ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! อานาปานสติสมาธินี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นของรำงับ เป็นของประณีต เป็นของเย็น เป็นสุขวิหาร และย่อมยังอกุศลธรรมอันลามก อันเกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานไป ให้รำงับไป โดยควรแก่ฐานะ.
ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนฝุ่นธุลีฟุ้งขึ้นแห่งเดือนสุดท้ายของฤดูร้อน ฝนหนักที่ผิดฤดูตกลงมา ย่อมทำฝุ่นธุลีเหล่านั้นให้อันตรธานไป ให้รำงับไปได้ โดยควรแก่ฐานะ, ข้อนี้ฉันใด, ภิกษุ ท. ! อานาปานสติสมาธิอันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ก็เป็นของรำงับ เป็นของประณีต เป็นของเย็น เป็นสุขวิหาร และย่อมยังอกุศลธรรมอันลามก ที่เกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นแล้วให้อันตรธานไป โดยควรแก่ฐานะได้ ฉันนั้น.
ภิกษุ ท. ! ก็อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างไรเล่า ? ที่เป็นของรำงับ เป็นของประณีต เป็นของเย็น เป็นสุขวิหาร และย่อมยังอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานไป โดยควรแก่ฐานะได้.
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ไปแล้วสู่ป่าก็ตาม ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ตาม ไปแล้วสู่เรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบแล้ว ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น. ภิกษุนั้น ....ฯลฯ .... (ตรัสอานาปานสติ อันมีวัตถุ 16 ดังที่มีปรากฏที่หน้า 1181 แห่งหนังสือเล่มนี้ หัวข้อว่า “แบบการเจริญอานาปานสติที่มีผลมาก” ตั้งแต่หน้า 1182 ถึงหน้า 1184) .... เห็นความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้ ย่อมเป็นของรำงับ เป็นของประณีต เป็นของเย็น เป็นสุขวิหาร และย่อมยังอกุศลธรรมอันลามก ที่เกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานไป โดยควรแก่ฐานะ ดังนี้ แล.
(ข้อนี้สรุปความว่า อานาปานสติ เป็นเครื่องทำให้เกิดความเย็นใจหรือสุขวิหาร สำหรับบุคคลผู้มีความกระวนกระวาย หรือความฟุ้งซ่านรำคาญ ไม่พอใจในการเป็นอยู่หรือชีวิตประจำวันของตน อันเกิดมาแต่ความเบื่อระอาสิ่งต่าง ๆ หรือความไม่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนกระทำ เป็นต้น).
- มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๐๗/๑๓๕๒ - ๑๓๕๔.