ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท.! เธอทั้งหลาย จงเจริญสมาธิเถิด. ภิกษุ ท.! ภิกษุผู้มีจิตเป็นสมาธิแล้ว ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริง. ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริง ซึ่งอะไรเล่า ? ภิกษุ ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงซึ่งความเกิดขึ้นและดับไปแห่งรูป . . . . แห่งเวทนา . . . . แห่งสัญญา . . . . แห่งสังขาร . . . . แห่งวิญญาณ.
ภิกษุ ท.! การเกิดขึ้นแห่งรูป . . . . แห่งเวทนา . . . . แห่งสัญญา . . . . แห่งสังขาร . . . . แห่งวิญญาณ เป็นอย่างไรเล่า?
ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่. ภิกษุนั้น ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ ซึ่งอะไรเล่า ?
ภิกษุ ท.! ภิกษุนั้น ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ซึ่ง รูป. เมื่อภิกษุนั้น พลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ซึ่ง รูป, นันทิ (ความเพลิดเพลิน) ย่อมเกิดขึ้น. ความเพลินใด ในรูป. ความเพลินนั้นคืออุปาทาน. เพราะอุปาทานของภิกษุนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ ; เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ ; เพราะมีชาติเป็นปัจจัย, ชรามรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.
(ในกรณีของ การเกิดขึ้นแห่งเวทนา แห่ง สัญญา แห่งสังขาร แห่งวิญญาณ ก็มีข้อความที่ตรัสไว้อย่างเดียวกัน เปลี่ยนแต่ชื่อขันธ์เท่านั้น).
ภิกษุ ท.! นี้คือ ความเกิดขึ้นแห่งรูป . . . . แห่งเวทนา . . . . แห่งสัญญา . . . . แห่งสังขาร . . . . แห่งวิญญาณ.
ภิกษุ ท.! ความดับแห่งรูป . . . . แห่งเวทนา . . . . แห่งสัญญา . . . . แห่งสังขาร . . . . แห่งวิญญาณ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่เมาหมกอยู่. ภิกษุนั้นย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่เมาหมกอยู่ ซึ่งอะไรเล่า ?
ภิกษุ ท.! ภิกษุนั้น ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่เมาหมกอยู่ซึ่งรูป. เมื่อภิกษุนั้น ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ซึ่ง รูป, นันทิ (ความเพลิดเพลิน) ใด ในรูป, นันทินั้นย่อมดับไป. เพราะความดับแห่งนันทิของภิกษุนั้น จึงมีความดับแห่งอุปาทาน ; เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ ; เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ ; เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น : ความดับแห่งแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีอาการอย่างนี้.
(ในกรณีของ การดับแห่งเวทนา แห่งสัญญา แห่งสังขาร และแห่งวิญญาณ ก็มีข้อความที่ตรัสอย่างเดียวกัน เปลี่ยนแต่ชื่อขันธ์เท่านั้น).
ภิกษุ ท.! นี้คือ การดับแห่งเวทนา . . . . แห่งสัญญา . . . . แห่งสังขาร . . . . แห่งวิญญาณ, แล.
- ขนฺธ. สํ. ๑๗/๑๘-๑๙/๒๗ - ๒๙.