ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้มีปรกติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ท. อยู่ นั้นเป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ : (1) เมื่อเสวยเวทนาอันเป็นสุขก็ตาม ย่อมรู้ชัด ว่า “เราเสวยเวทนาอันเป็นสุข”. (2) เมื่อเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์ก็ตาม ย่อมรู้ชัดว่า “เราเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์." (3) เมื่อเสวยเวทนาอันไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ตาม ย่อมรู้ชัดว่า “เราเสวยเวทนาอันไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข.” (4) เมื่อเสวยเวทนาอันเป็นสุขเป็นไปกับด้วยอามิสก็ตาม ย่อมรู้ชัดว่า “เราเสวยสุขเวทนาเป็นไปกับด้วยอามิส.” (5) เมื่อเสวยเวทนาอันเป็นสุขปราศจากอามิสก็ตาม ย่อมรู้ชัดว่า “เราเสวยสุขเวทนาอันปราศจากอามิส.” (6) เมื่อเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์เป็นไปกับด้วยอามิสก็ตาม ย่อมรู้ชัดว่า “เราเสวยทุกขเวทนาเป็นไปกับด้วยอามิส.” (7) เมื่อเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์ปราศจากอามิสก็ตาม ย่อมรู้ชัดว่า “เราเสวยทุกขเวทนาอันปราศจากอามิส.” (8) เมื่อเสวยเวทนาอันไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข อันเป็นไปกับด้วยอามิสก็ตาม ย่อมรู้ชัดว่า “เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาเป็นไปกับด้วยอามิส.” (9) เมื่อเสวยเวทนาอันไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข อันปราศจากอามิสก็ตาม ย่อมรู้ชัดว่า “เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาปราศจากอามิส.”
ด้วยอาการอย่างนี้แล ที่ภิกษุเป็นผู้ มีปรกติพิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนา ท. อันเป็นภายในอยู่ บ้าง, ในเวทนา ท. อันเป็นภายนอกอยู่ บ้าง, ในเวทนา ท. ทั้งภายในและภายนอกอยู่ บ้าง ; และเป็นผู้มีปรกติพิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดขึ้น (แห่งเวทนา) ในเวทนา ท. (นี้) อยู่ บ้าง, เห็นธรรมเป็นเหตุเสื่อมไป (แห่งเวทนา) ในเวทนา ท. (นี้) อยู่ บ้าง, เห็นทั้งธรรมอันเป็นเหตุเกิดขึ้นและเสื่อมไป (แห่งเวทนา) ในเวทนา ท. (นี้) อยู่ บ้าง. ก็แหละ สติ (คือความระลึก) ว่า “เวทนา ท. มีอยู่” ดังนี้ของเธอนั้น เป็นสติที่เธอดำรงไว้เพียงเพื่อความรู้ เพียงเพื่ออาศัยระลึก ที่แท้ เธอเป็นผู้ที่ตัณหาและทิฏฐิอาศัยไม่ได้ และเธอไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลกนี้. ภิกษุ ท. ! ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีปรกติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ แม้ด้วยอาการอย่างนี้.
- นัยแห่งอานาปานสติสูตร : ๑๔/๑๙๖/๒๘๙.
- นัยแห่งมหาสติปัฏฐานสูตร : ๑๐/๓๓๒/๒๘๘.