ความแน่ใจหลักจากการปฏิบัติ เป็นเครื่องตัดสิ้นความผิด - ถูก

(นายบ้านชื่อปาฏลิยะ แห่งโกฬิยนิคม ชื่อ อุตตระ มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลเรื่องที่เขาได้ฟังสมณพราหมณ์ศาสดาต่าง ๆ 4 จำพวก : จำพวกที่ 1 แสดงทิฏฐิว่า การให้ไม่มีผล การบูชาไม่มีผล กรรมดีกรรมชั่วไม่มีผล โลกนี้โลกอื่นไม่มี บิดามารดาไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติชอบ รู้แจ้งโลกนี้โลกอื่นแล้วประกาศก็ไม่มี ; สมณพราหมณ์ศาสดาพวกที่ 2 แสดงทิฏฐิอย่างตรงกันข้าม ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มี ; สมณพราหมณ์ศาสดาพวกที่ 3 แสดงทิฏฐิว่า การกระทำทั้งหลายไม่เป็นอันกระทำ แม้จะกระทำบาป เช่น ฆ่าสัตว์มีเนื้อกองเต็มแผ่นดิน ก็ไม่มีบาป ทำบุญเต็มฝั่งแม่น้ำคงคาก็ไม่มีบุญ ; ส่วนสมณพราหมณ์ศาสดาพวกที่ 4 แสดงทิฏฐิอย่างตรงกันข้ามจากพวกที่สาม คือแสดงว่าการกระทำเป็นอันกระทำ คือทำบาปมีผลบาป ทำบุญมีผลบุญ ; แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าต่อไปว่า :-)

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! กังขาและวิจิกิจฉาได้เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ว่า ในบรรดาสมณพราหมณ์ศาสดาเหล่านั้น สมณพราหมณ์พวกไหนพูดจริง พวกไหนพูดมุสา”.

คามณิ ! ควรแล้วที่ท่านจะมีกังขาจะมีวิจิกิจฉา วิจิกิจฉาได้เกิดขึ้นแล้วในฐานะที่ควรกังขา.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์เลื่อมใสแล้วในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคสามารถที่จะแสดงธรรม เพื่อข้าพระองค์จะละธรรมเป็นที่กังขานั้นเสียได้”.

คามณิ ! ธัมมสมาธิ มีอยู่. ถ้าท่านได้จิตตสมาธิในธัมมสมาธินั้นแล้ว ท่านก็จะละธรรมเป็นที่กังขานั้นเสียได้. คามณิ ! ธัมมสมาธินั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

คามณิ ! ธัมมสมาธิ ในกรณีนี้คือ อริยสาวก ละขาดเว้นขาดจากปาณาติบาต ละขาดเว้นขาดจากอทินนาทาน ละขาดเว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร ละขาดเว้นขาดจากมุสาวาท ละขาดเว้นขาดจากปิสุณวาท ละขาดเว้นขาดจากผรุสวาท ละขาดเว้นขาดจากสัมผัปปลาปวาท ละอภิชฌาแล้ว เป็นผู้ไม่มีอภิชฌา ละโทษคือพยาบาทแล้ว เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท ละมิจฉาทิฏฐิแล้ว เป็นผู้มีสัมมทิฏฐิ.

คามณิ ! อริยสาวกนั้น ปราศจากอภิชฌา ปราศจากพยาบาท เป็นผู้ไม่ลืมหลง มีสัมปชัญญะ มีสติ อย่างนี้แล้ว มีจิตสหรคตด้วย เมตตา แผ่ไปสู่ทิศที่หนึ่ง แล้วแลอยู่, ในทิศที่สองก็อย่างเดียวกัน, ในทิศที่สามก็อย่างเดียวกัน, ในทิศที่สี่ก็อย่างเดียวกัน ; คือมีจิตสหรคตด้วยเมตตา เป็นจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตจิต ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปแล้วสู่โลกมีที่สุดในทิศทั้งปวง เพราะการแผ่ไปสู่ที่ทั้งปวงในทิศทั้งปวง ทั้งโดยเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง แล้วแลอยู่. (ในตอนที่กล่าวถึงการแผ่จิตอันสหรคตด้วย กรุณา มุทิตา และ อุเบกขา ในตอนต่อไป ก็ได้ตรัสโดยข้อความทำนองเดียวกันนี้). อริยสาวกนั้นย่อมใคร่ครวญเห็นอยู่ ว่า “แม้จะมีศาสดาผู้มีวาทะมีทิฏฐิ ว่า ‘ทานที่ให้แล้ว ไม่มี (ผล), ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล), การบูชาที่บูชาแล้วไม่มี (ผล), ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่ว ไม่มี, โลกนี้ ไม่มี, โลกอื่น ไม่มี, มารดา ไม่มี, บิดา ไม่มี, โอปปาติกสัตว์ ไม่มี, สมณพราหมณ์ที่ไปแล้วปฏิบัติแล้ว โดยชอบ ถึงกับกระทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่น ด้วยปัญญาโดยชอบเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็ไม่มี’ ดังนี้อยู่ก็ตาม ; แม้คำของศาสดานั้น เป็นคำจริง ความผิดก็มิได้มีแก่เรา (ผู้ปฏิบัติอยู่อย่างนี้) ผู้มิได้เบียดเบียนใคร ๆ ทั้งที่เป็นสัตว์สะดุ้งหวั่นไหวและสัตว์ที่มั่นคงไม่สะดุ้งหวั่นไหว และเราเป็นผู้ถือเอาได้ซึ่งความสำเร็จประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ในกรณีนี้คือ เป็นผู้สำรวมแล้วด้วยกายด้วยวาจาด้วยใจด้วย และจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่การตายเพราะการทำลายแห่งกาย ด้วย” ดังนี้. (ครั้นพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว) ความปราโมทย์ย่อมเกิดแก่อริยสาวกนั้น ปีติย่อมเกิดแก่ผู้ปราโมทย์แล้ว กายของผู้มีใจปีติแล้วย่อมรำงับ ผู้มีกายสงบรำงับแล้วย่อมเสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น. คามณิเอ๋ย ! นี่แหละ คือ ธัมมสมาธิ ละ. ถ้าท่านได้จิตตสมาธิในธัมมสมาธินั้นแล้ว ท่านก็จะละเสียได้ซึ่งธรรมเป็นที่กังขานั้น.

(ต่อไปนี้ ได้ตรัสปรารภทิฏฐิของสมณพราหมณ์ ศาสดาจำพวกที่ 2 ซึ่งกล่าว อัตถิกทิฏฐิ, และปรารภ ศาสดาจำพวกที่ 3 ซึ่งกล่าว อกิริยทิฏฐิ, แล้วตรัสปรารภ ศาสดาจำพวกที่สี่ ซึ่งกล่าว กิริยทิฏฐิ. โดยข้อความทำนองเดียวกันทั้ง 4 พวก ; หมายความว่า ศาสดานั้น ๆ จะกล่าวว่าอย่างไรก็ตามใจ อริยสาวกนี้ยังคงมีธัมมสมาธิ ไม่มีความผิดใด ๆ เกี่ยวกับทิฏฐิเหล่านั้น แถมยังได้รับความสำเร็จประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทั้งในโลกนี้และในโลกอื่น ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น. นี้แสดงว่า อริยสาวกนั้น รู้ความผิด-ถูกของทิฏฐินั้น ๆ ได้ด้วยตนเอง หลังจากที่ได้ปฏิบัติธัมมสมาธิ จนได้รับผลปรากฏแก่ใจของตน ; เราจึงถือว่า ความแน่ใจหลังจากการได้รับผลแห่งการปฏิบัติ เป็นเครื่องตัดสินความผิด-ถูกของธรรมอันเป็นเครื่องกังขาทั้งปวงได้.

ต่อจากนี้ ก็ได้ตรัสข้อความที่ปรารภ การแผ่จิต อันสหรคตด้วยกรุณา ด้วยมุทิตา ด้วยอุเบกขา โดยทำนองเดียวกันกับในกรณีแห่งเมตตา จนครบถ้วนทั้ง 4 พรหมวิหารธรรม. ในที่สุดแห่งเทศนา นายบ้านชื่อปาฏลิยะ ได้สรรเสริญพระธรรมเทศนา และประกาศตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา).

- สฬา. สํ. ๑๘/๔๒๗ - ๔๒๙/๖๖๔ - ๖๗๓.

(สัมมาทิฏฐิแห่งพระบาลีนี้ เป็นสัมมาทิฏฐิชนิดที่เป็นสันทิฏฐิโกคือเห็นได้ด้วยตนเองเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้ตัดสินความผิด-ถูกได้ด้วยตนเอง).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง