ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! เราจักแสดงซึ่ง มิจฉาปฏิปทา และสัมมาปฏิปทา แก่พวกเธอ. เธอทั้งหลาย จงฟังซึ่งข้อความนั้น.
ภิกษุ ท. ! มิจฉาปฏิปทา เป็นอย่างไรเล่า ? มิจฉาปฏิปทานี้คือ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ. ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า มิจฉาปฏิปทา.
ภิกษุ ท. ! สัมมาปฏิปทา เป็นอย่างไรเล่า ? สัมมาปฏิปทานี้คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ. ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า สัมมาปฏิปทา.
- มหาวาร. สํ. 19/22/65 - 67.
[ สูตรข้างบนนี้ ตรัสเรียกอัฏฐังคิกมรรค ว่าสัมมาปฏิปทา ; ในสูตรอื่น (19/28/89 - 91) ตรัสเรียกว่า สัมมาปฏิบัติ ก็มี.
อนึ่ง สูตรข้างบนนั้นตรัสเรียกอัฏฐังคิกมรรค ว่า สัมมาปฏิปทา ในสูตรบางแห่ง (นิทาน. สํ. 16/5/19 - 21) ตรัสเรียก ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวาร ว่าเป็นสัมมาปฏิปทา ก็มี (ตรัสเรียกปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวาร ว่าทุกขนิโรธอริยสัจ ก็มี - ติก. อํ. 20/227/501). เป็นอันว่า ทั้งอริยอัฏฐังคิกมรรค และ ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวาร ต่างก็เป็นสัมมาปฏิปทาด้วยกัน ; ควรที่นักศึกษาจะสนใจอย่างยิ่ง ].