ทิฏฐิซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งการวิวาท (3 จำพวก)

“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! ข้าพเจ้ามีวาทะมีความเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า”.

อัคคิเวสสนะ ! (ถ้าอย่างนั้น) ความเห็นของท่านเองที่ว่า “สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า” ดังนี้ นั้นก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน (ด้วยเหมือนกัน).

“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! ความเห็นแม้โน้นของข้าพเจ้า ต้องควรแก่ข้าพเจ้าว่าความเห็นของข้าพเจ้านั้นเป็นเช่นนั้นทีเดียว, ความเห็นของข้าพเจ้านั้น เป็นเช่นนั้นทีเดียว (คือถูกต้อง) ดังนี้”.

อัคคิเวสสนะเอ๋ย ! มันมีมากกว่ามาก กว่านี้นัก ในโลกนี้ คือพวกที่กล่าวอยู่ว่า “ความเห็นของข้าพเจ้านั้น เป็นเช่นนั้นทีเดียว ความเห็นของข้าพเจ้านั้น เป็นเช่นนั้นทีเดียว (คือถูกต้อง)” แล้วเขาไม่ละความเห็นนั้นเสีย แต่ไปทำความเห็นอื่นให้เกิดขึ้นอีก. อัคคิเวสสนะเอ๋ย ! มันมีน้อยกว่าน้อย กว่านี้นักในโลกนี้ คือพวกที่กล่าวอยู่ว่า “ความเห็นของข้าพเจ้านั้น เป็นเช่นนั้นทีเดียว ความเห็นของข้าพเจ้านั้น เป็นเช่นนั้นทีเดียว (คือถูกต้อง)” แล้วเขาละความเห็นนั้นเสียได้ และไม่ทำความเห็นอื่นให้เกิดขึ้นอีก.

อัคคิเวสสนะ ! มีสมณพราหมณ์ พวกหนึ่ง มีวาทะมีความเห็นอย่างนี้ว่า “สิ่งทั้งปวง ควรแก่ข้าพเจ้า” ดังนี้ก็มี. มีสมณพราหมณ์ พวกหนึ่ง มีวาทะมีความเห็นอย่างนี้ว่า “สิ่งทั้งปวง ไม่ควรแก่ข้าพเจ้า” ดังนี้ก็มี. มีสมณพราหมณ์ พวกหนึ่ง มีวาทะมีความเห็นอย่างนี้ว่า “สิ่งบางสิ่งควรแก่ข้าพเจ้า สิ่งบางสิ่งไม่ควรแก่ข้าพเจ้า” ดังนี้ก็มี.

อัคคิเวสสนะ ! ในบรรดาสมณพราหมณ์ 3 พวกนั้น ทิฏฐิของสมณพราหมณ์พวกที่มีวาทะมีความเห็นว่า “สิ่งทั้งปวง ควรแก่ข้าพเจ้า” ดังนี้นั้น เป็นทิฏฐิที่กระเดียดไปในทางมีความกำหนัดย้อมใจ กระเดียดไปในทางประกอบตน (อยู่ในภพ) กระเดียดไปในทางเพลิดเพลิน (ต่อส่ิงเป็นที่ตั้งแห่งความเพลิน) กระเดียดไปในทางสยบมัวเมา และกระเดียดไปในทางเข้าไปยึดมั่นถือมั่น.

อัคคิเวสสนะ ! ในบรรดาสมณพราหมณ์ 3 พวกนั้น ทิฏฐิของสมณพราหมณ์พวกที่มีวาทะมีความเห็นว่า “สิ่งทั้งปวง ไม่ควรแก่ข้าพเจ้า” ดังนี้นั้น เป็นทิฏฐิที่กระเดียดไปในทางไม่มีความกำหนัดย้อมใจ กระเดียดไปในทางไม่ประกอบตน (อยู่ในภพ) กระเดียดไปในทางไม่เพลิดเพลิน (ต่อส่ิงเป็นที่ตั้งแห่งความเพลิน) กระเดียดไปในทางไม่สยบมัวเมา และกระเดียดไปในทางไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น.

พอพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้เท่านั้น ทีฆนขะปริพพาชกได้ร้องขึ้นเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า “พระโคดมสนับสนุนความเห็นของข้าพเจ้า. พระโคดมเชิดชูความเห็นของข้าพเจ้า.”

อัคคิเวสสนะ ! ในบรรดาสมณพราหมณ์ 3 พวกนั้น ทิฏฐิของสมณพราหมณ์พวกที่มีวาทะมีความเห็นว่า “บางสิ่งควรแก่ข้าพเจ้า บางสิ่งไม่ควรแก่ข้าพเจ้า” ดังนี้นั้น ทิฏฐิใดที่ว่า บางอย่างควรแก่เขาเหล่านั้น ทิฏฐินั้นกระเดียดไปในทางมีความกำหนัดย้อมใจ กระเดียดไปในทางประกอบตน (อยู่ในภพ) กระเดียดไปในทางเพลิดเพลิน (ต่อส่ิงเป็นที่ตั้งแห่งความเพลิน) กระเดียดไปในทางสยบมัวเมา และกระเดียดไปในทางเข้าไปยึดมั่นถือมั่น. ทิฏฐิใดที่ว่า บางอย่างไม่ควรแก่เขาเหล่านั้น ทิฏฐินั้น ก็กระเดียดไปในทางไม่มีความกำหนัดย้อมใจ กระเดียดไปในทางไม่ประกอบตน (อยู่ในภพ) กระเดียดไปในทางไม่เพลิดเพลิน (ต่อส่ิงเป็นที่ตั้งแห่งความเพลิน) กระเดียดไปในทางไม่สยบมัวเมา และกระเดียดไปในทางไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น.

อัคคิเวสสนะ ! ในบรรดาสมณพราหมณ์สามพวกนั้น สมณพราหมณ์พวกใด มีวาทะมีความเห็นว่า ‘สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา’ ดังนี้ มีอยู่. ในสมณพราหมณ์พวกนั้น บุรุษผู้วิญญูชน ย่อมใคร่ครวญเห็นอย่างนี้ว่า ถ้าเราถือเอาทิฏฐิของพวกที่ถือว่า ‘สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา’ ดังนี้ มากล่าวยืนยันอยู่อย่างแข็งแรง ว่า ‘นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า’ ดังนี้ไซร้ การถือเอาอย่างขัดแย้งกันต่อสมณพราหมณ์อีกสองพวก ก็จะพึงมีแก่เรา คือขัดแยังกับพวกที่มีวาทะมีความเห็นว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา’ และกับพวกที่มีวาทะมีความเห็นว่า ‘บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา’. การถือเอาอย่างขัดแย้งกันต่อสมณพราหมณ์สองพวกเหล่าโน้น ก็มีแก่เราด้วยอาการอย่างนี้. เมื่อการถือเอาอย่างขัดแย้งกันมีอยู่ การวิวาทกันก็ย่อมมี, เมื่อการวิวาทกันมี การพิฆาตกันก็ย่อมมี, เมื่อการพิฆาตกันมี การเบียดเบียนกันก็ต้องมี, ด้วยอาการอย่างนี้. บุรุษวิญญูชนนั้น เห็นอยู่ซึ่งการถือเอาอย่างขัดแย้งกัน การวิวาทกัน การพิฆาตกัน และการเบียดเบียนกัน อันจะเกิดขึ้นในตน อยู่ดังนี้ เขาก็ละทิฏฐินั้นเสีย และไม่ถือเอาทิฏฐิอื่นขึ้นมาอีก. การละเสีย การสลัดคืนเสียซึ่งทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.

อัคคิเวสสนะ ! ในบรรดาสมณพราหมณ์ 3 พวกนั้น สมณพราหมณ์พวกใด มีวาทะมีความเห็นว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา’ ดังนี้ มีอยู่. ในสมณพราหมณ์พวกนั้น บุรุษผู้วิญญูชน ย่อมใคร่ครวญเห็นอย่างนี้ว่า ถ้าเราถือเอาทิฏฐิของพวกที่ถือว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา’ ดังนี้ มากล่าวยืนยันอยู่อย่างแข็งแรง ว่า ‘นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า’ ดังนี้ไซร้ การถือเอาอย่างขัดแย้งกันต่อสมณพราหมณ์อีกสองพวก ก็จะพึงมีแก่เรา คือขัดแยังกับพวกที่มีวาทะมีความเห็นว่า ‘สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา’ และกับพวกที่มีวาทะมีความเห็นว่า ‘บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา’. การถือเอาอย่างขัดแย้งกันต่อสมณพราหมณ์สองพวกเหล่าโน้น ก็มีแก่เราด้วยอาการอย่างนี้. เมื่อการถือเอาอย่างขัดแย้งกันมีอยู่ การวิวาทกันก็ย่อมมี, เมื่อการวิวาทกันมี การพิฆาตกันก็ย่อมมี, เมื่อการพิฆาตกันมี การเบียดเบียนกันก็ต้องมี, ด้วยอาการอย่างนี้. บุรุษวิญญูชนนั้น เห็นอยู่ซึ่งการถือเอาอย่างขัดแย้งกัน การวิวาทกัน การพิฆาตกัน และการเบียดเบียนกัน อันจะเกิดขึ้นในตน อยู่ดังนี้ เขาก็ละทิฏฐินั้นเสีย และไม่ถือเอาทิฏฐิอื่นขึ้นมาอีก. การละเสีย การสลัดคืนเสียซึ่งทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.

อัคคิเวสสนะ ! ในบรรดาสมณพราหมณ์ 3 พวกนั้น สมณพราหมณ์พวกใด มีวาทะมีความเห็นว่า ‘บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา’ ดังนี้ มีอยู่. ในสมณพราหมณ์พวกนั้น บุรุษผู้วิญญูชน ย่อมใคร่ครวญเห็นอย่างนี้ว่า ถ้าเราถือเอาทิฏฐิของพวกที่ถือว่า ‘บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา’ ดังนี้ มากล่าวยืนยันอยู่อย่างแข็งแรง ว่า ‘นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า’ ดังนี้ไซร้ การถือเอาอย่างขัดแย้งกันต่อสมณพราหมณ์อีกสองพวก ก็จะพึงมีแก่เรา คือขัดแยังกับพวกที่มีวาทะมีความเห็นว่า ‘สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา’ และกับพวกที่มีวาทะมีความเห็นว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา’. การถือเอาอย่างขัดแย้งกันต่อสมณพราหมณ์สองพวกเหล่าโน้น ก็มีแก่เราด้วยอาการอย่างนี้. เมื่อการถือเอาอย่างขัดแย้งกันมีอยู่ การวิวาทกันก็ย่อมมี, เมื่อการวิวาทกันมี การพิฆาตกันก็ย่อมมี, เมื่อการพิฆาตกันมี การเบียดเบียนกันก็ต้องมี, ด้วยอาการอย่างนี้. บุรุษวิญญูชนนั้น เห็นอยู่ซึ่งการถือเอาอย่างขัดแย่งกัน การวิวาทกัน การพิฆาตกัน และการเบียดเบียนกัน อันจะเกิดขึ้นในตน อยู่ดังนี้ เขาก็ละทิฏฐินั้นเสีย และไม่ถือเอาทิฏฐิอื่นขึ้นมาอีก. การละเสีย การสลัดคืนเสียซึ่งทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.

- ม. ม. ๑๓/๒๖๓ - ๒๖๖/๒๖๙ - ๒๗๑.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง