ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท.! จิตนี้ เป็นธรรมชาติประภัสสร แต่จิต (ที่มีธรรมชาติประภัสสร) นั้นแล เข้าถึงความเศร้าหมองแล้ว เพราะอุปกิเลสอันเป็นอาคันตุกะจรมา. เรากล่าวว่า บุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อมไม่รู้ชัดตามที่เป็นจริง ซึ่งความจริงข้อนั้น เพราะเหตุนั้น จิตตภาวนา ย่อมไม่มีแก่บุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ดังนี้.
ภิกษุ ท.! จิตนี้ เป็นธรรมชาติประภัสสร แต่จิต (ที่มีธรรมชาติประภัสสร) นั้นแล เป็นจิตพ้นวิเศษจากอุปกิเลสอันเป็นอาคันตุกะจรมานั้นได้. เรากล่าวว่าอริยสาวกผู้มีการสดับ ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงซึ่งความจริงข้อนั้น เพราะเหตุนั้น จิตตภาวนา ย่อมมีแก่อริยสาวกผู้มีการสดับ ดังนี้.
- เอก. อํ. ๒๐/๑๑-๑๒/๕๒-๕๒.
(พระพุทธภาษิตนี้ มีความหมายลึกอยู่บางประการ จนทำให้มีผู้เข้าใจผิดไปว่า ถ้าจิตมีความเป็นประภัสสรตามธรรมชาติแล้ว ทำไมจึงเศร้าหมองได้เพราะอุปกิเลส ; และว่า ถ้าจิตพ้นจากอุปกิเลสกลับไปสู่ความเป็นจิตประภัสสรอย่างเดิมแล้ว มันจะกลับเป็นจิตเศร้าหมอง เพราะอุปกิเลสได้อีกในภายหลัง สลับกันไปไม่รู้สิ้นสุด ดังนี้. แต่ความจริงมีอยู่ว่า ประภัสสรตามธรรมชาตินั้น ถูกครอบงำด้วยอุปกิเลสได้ จึงต้องทำการภาวนา คืออบรมจิตให้เปลี่ยนสภาพเป็นประภัสสรสมุจเฉท ซึ่งอุปกิเลสจะครอบงำไม่ได้อีกต่อไป. เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า ผู้รู้ความจริงเรื่องนี้เท่านั้น จึงประสงค์การเจริญภาวนาอบรมจิต และอบรมจิตได้ตามประสงค์).