ไปยังหน้า : |
ราหุล ! รูป อย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นของหยาบ มีลักษณะแข้นแข็ง อันอุปาทาน (ของคนหรือสัตว์) เข้าไปถือเอาแล้ว, ตัวอย่างเช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ ลำไส้สุด อาหารในกระเพาะ อุจจาระ ; หรือจะยังมีรูปแม้อื่น อันเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นของหยาบ มีลักษณะแข้นแข็ง อันอุปาทาน (ของคนหรือสัตว์) เข้าไปถือเอาแล้ว อย่างเดียวกันนี้. ราหุล ! นี้ เรียกว่า ปฐวีธาตุ อันเป็นภายใน. ปฐวีธาตุอันเป็นภายในด้วย ปฐวีธาตุอันเป็นภายนอกด้วย นั้นก็เป็น สักว่าปฐวีธาตุ เสมอกัน. ใคร ๆ พึงเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ; ครั้นเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริง อย่างนี้แล้ว จิตย่อมเบื่อหน่ายต่อปฐวีธาตุ ย่อมคลายกำหนัดจากปฐวีธาตุ.
ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยแผ่นดิน (ปฐวี) เถิด. เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยแผ่นดิน อยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่. ราหุล ! เปรียบเหมือนเมื่อคนเขาทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ทิ้งคูถบ้าง มูตรบ้าง ทิ้งน้ำลายบ้าง หนองบ้าง โลหิตบ้าง ลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็ไม่รู้สึกอึดอัดระอารังเกียจ ด้วยสิ่งเหล่านั้น, นี้ฉันใด ; ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยแผ่นดินเถิด. เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยแผ่นดินอยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน.
ราหุล ! อาโปธาตุ เป็นอย่างไรเล่า ? อาโปธาตุมีทั้งที่เป็นภายในและเป็นภายนอก. ราหุล ! อาโปธาตุที่เป็นภายใน เป็นอย่างไรเล่า ? อาโปธาตุใด อันเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นของเหลว อันอุปาทาน (ของคนหรือสัตว์) เข้าไปถือเอาแล้ว, ตัวอย่างเช่น น้ำดี เสลด หนอง โลหิต เหงื่อ มัน น้ำตา น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำเมือก น้ำลื่นหล่อข้อ น้ำมูตร นี้ก็ดี ; หรือจะยังมีอาโปธาตุ อันเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นของเหลว อันอุปาทานเข้าไปถือเอาแล้ว ไร ๆ อื่นนอกไปจากนี้ อันใดก็ดี. ราหุล ! อาโปธาตุทั้งสองประเภทนี้ เรียกว่า อาโปธาตุ อันเป็นภายใน. อาโปธาตุอันเป็นภายในด้วย อาโปธาตุอันเป็นภายนอกด้วย นั้นก็เป็น สักว่าอาโปธาตุ เท่านั้น. ใคร ๆ พึงเห็นอาโปธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ; ครั้นเห็นอาโปธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริง อย่างนี้แล้ว จิตย่อมเบื่อหน่ายต่ออาโปธาตุ ย่อมคลายกำหนัดจากอาโปธาตุ.
ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยน้ำ (อาโป) เถิด. เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยน้ำอยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่. [ข้อความต่อไปจากนี้ ตรัสถึงการที่น้ำไม่อึดอัดระอาต่อสิ่งปฏิกูลและไม่ปฏิกูลนานาชนิด (ดังที่กล่าวแล้วในตอนที่ว่าด้วยธาตุดิน) ที่เขาล้างลงไปในน้ำ, อันเป็นอุปมาของจิตที่อบรมแล้วเสมอด้วยน้ำ ฉันใดก็ฉันนั้น].
ราหุล ! เตโชธาตุ เป็นอย่างไรเล่า ? เตโชธาตุมีทั้งที่เป็นภายในและเป็นภายนอก. ราหุล ! เตโชธาตุที่เป็นภายใน เป็นอย่างไรเล่า ? เตโชธาตุอันใด อันเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นของเผาผลาญ อันอุปาทานเข้าไปถือเอาแล้ว, ตัวอย่างเช่น ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย และไฟที่เผาอาหารอันกินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว ลิ้มแล้ว ให้แปรไปโดยชอบ นี้ก็ดี ; หรือจะยังมีเตโชธาตุ อันเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นของเผาผลาญ อันอุปาทานเข้าไปถือเอาแล้ว ไร ๆ อื่นนอกไปจากนี้ อันใด ก็ดี. ราหุล ! เตโชธาตุทั้งสองประเภทนี้ เรียกว่าเตโชธาตุอันเป็นภายใน. เตโชธาตุอันเป็นภายในด้วย เตโชธาตุอันเป็นภายนอกด้วย นั้นก็เป็น สักว่าเตโชธาตุ เท่านั้น. ใคร ๆ พึงเห็นเตโชธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ; ครั้นเห็นเตโชธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว จิตย่อมเบื่อหน่ายต่อเตโชธาตุ ย่อมคลายกำหนัดจากเตโชธาตุ.
ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยไฟ (เตโช) เถิด. เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยไฟอยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ อันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่. [ข้อความต่อไปจากนี้ ตรัสถึงการที่ไฟไม่อึดอัดระอาต่อสิ่งปฏิกูลและไม่ปฏิกูลนานาชนิด (ดังที่กล่าวแล้วในตอนที่ว่าด้วยธาตุดิน) ที่เขาทิ้งลงไปให้มันไหม้, อันเป็นอุปมาของจิตที่อบรมแล้วเสมอด้วยไฟ ฉันใดก็ฉันนั้น].
ราหุล ! วาโยธาตุ เป็นอย่างไรเล่า ? วาโยธาตุมีทั้งที่เป็นภายในและเป็นภายนอก. ราหุล ! เตโชธาตุที่เป็นภายใน เป็นอย่างไรเล่า ? วาโยธาตุอันใด อันเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นของพัดไปมา อันอุปาทานเข้าไปถือเอาแล้ว, ตัวอย่างเช่น ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก นี้ก็ดี ; หรือจะยังมีวาโยธาตุ อันเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นของพัดไปมา อันอุปาทานเข้าไปถือเอาแล้ว ไร ๆ อื่นนอกไปจากนี้ อันใด ก็ดี. ราหุล ! วาโยธาตุทั้งสองประเภทนี้ เรียกว่าวาโยธาตุอันเป็นภายใน. วาโยธาตุอันเป็นภายในด้วย วาโยธาตุอันเป็นภายนอกด้วย นั้นก็เป็น สักว่าวาโยธาตุ เท่านั้น. ใคร ๆ พึงเห็นวาโยธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ; ครั้นเห็นวาโยธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว จิตย่อมเบื่อหน่ายต่อวาโยธาตุ ย่อมคลายกำหนัดจากวาโยธาตุ.
ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยลม (วาโย) เถิด. เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยลมอยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ อันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่. [ข้อความต่อไปจากนี้ ตรัสถึงการที่ลมไม่อึดอัดระอาต่อสิ่งปฏิกูลและไม่ปฏิกูลนานาชนิด (ดังที่กล่าวแล้วในตอนที่ว่าด้วยธาตุดิน) ที่ลมพัดผ่านเข้าไป, อันเป็นอุปมาของจิตที่อบรมแล้วเสมอด้วยลม ฉันใดก็ฉันนั้น].
ราหุล ! อากาสธาตุ เป็นอย่างไรเล่า ? อากาสธาตุมีทั้งที่เป็นภายในและเป็นภายนอก. ราหุล ! อากาสธาตุที่เป็นภายใน เป็นอย่างไรเล่า ? อากาสธาตุอันใด อันเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นของแสดงลักษณะแห่งความว่าง อันอุปาทานเข้าไปถือเอาแล้ว, ตัวอย่างเช่น ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ที่ว่างที่อาหารอันกินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว ล้ิมแล้ว ผ่านไป ที่ว่างที่อาหารอันกินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว ลิ้มแล้ว ตั้งอยู่ ช่องที่อาหารอันกินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว ล้ิมแล้ว ออกสู่เบื้องล่าง นี้ก็ดี ; หรือจะยังมีอากาสธาตุ อันเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นของแสดงลักษณะแห่งความว่าง ไร ๆ อื่นนอกไปจากนี้ ซึ่งไม่ตัน มีลักษณะไม่ตัน เป็นของเปิด มีลักษณะเปิด อันเนื้อและเลือดไม่เข้าไปบรรจุอยู่ อันเป็นภายใน อันอุปาทานเข้าไปถือเอาแล้ว อันใดก็ดี. ราหุล ! อากาสธาตุทั้งสองประเภทนี้ เรียกว่าอากาสธาตุอันเป็นภายใน. อากาสธาตุอันเป็นภายในด้วย อากาสธาตุอันเป็นภายนอกด้วย นั้นก็เป็น สักว่าอากาสธาตุ เท่านั้น. ใคร ๆ พึงเห็นอากาสธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ; ครั้นเห็นอากาสธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริง อย่างนี้แล้ว จิตย่อมเบื่อหน่ายต่ออากาสธาตุ ย่อมคลายกำหนัดจากอากาสธาตุ.
ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยอากาสเถิด. เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยอากาสอยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ อันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่. ราหุล ! เปรียบเหมือนอากาส เป็นสิ่งมิได้ตั้งอยู่เฉพาะในที่ไร ๆ, นี้ฉันใด ; ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยอากาสเถิด. เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยอากาสอยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่, ฉันนั้นเหมือนกัน.
- ม. ม. ๑๓/๑๓๕ - ๑๔๐/๑๓๕ + ๑๔๐,๑๓๖ + ๑๔๑,๑๓๗ + ๑๔๒,๑๓๘ + ๑๔๓,๑๓๙ + ๑๔๔.