ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนเรือนรับรองแขก มีอยู่. ณ เรือนนั้น มีแขกมาจากทิศตะวันออก พักอาศัยอยู่บ้าง มาจากทิศตะวันตกพักอาศัยอยู่บ้าง มาจากทิศเหนือพักอาศัยอยู่บ้าง มาจากทิศใต้พักอาศัยอยู่บ้าง มีแขกวรรณะกษัตริย์มาพักอยู่ก็มี มีแขกวรรณะพราหมณ์มาพักอยู่ก็มี มีแขกวรรณะแพศย์มาพักอยู่ก็มี มีแขกวรรณะศูทรมาพักอยู่ก็มี (ในเรือนหลังเดียวพักกันอยู่ได้ถึง 4 วรรณะ จาก 4 ทิศ ดังนี้), นี้ฉันใด ;
ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น กล่าวคือ ภิกษุเมื่อเจริญทำให้มากอยู่ ซึ่งอริยอัฏฐังคิกมรรค :-
ย่อม กำหนดรู้ ซึ่งธรรมอันพึงกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งได้ ;
ย่อม ละ ซึ่งธรรมอันพึงกำหนดละด้วยปัญญาอันยิ่งได้ ;
ย่อม ทำให้แจ้ง ซึ่งธรรมอันพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งได้ ;
ย่อม ทำให้เจริญ ซึ่งธรรมอันพึงทำให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่งได้. (หมายความว่า ในการเจริญอริยมรรคเพียงอย่างเดียวนั้น ย่อมมี การกระทำ และ ผลแห่งการกระทำ รวมอยู่ถึง 4 อย่าง เช่นเดียวกับเรือนหลังเดียวมีคนพักรวมอยู่ 4 พวก, ฉันใดก็ฉันนั้น).
ภิกษุ ท. ! ธรรมเหล่าไหนเล่า เป็น ธรรมอันพึงกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ? คำตอบพึงมีว่า ปัญจุปาทานขันธ์ ; กล่าวคือ ขันธ์เป็นที่ยึดมั่นคือรูป, ขันธ์เป็นที่ยึดมั่นคือ เวทนา, ขันธ์เป็นที่ยึดมั่นคือ สัญญา, ขันธ์เป็นที่ยึดมั่นคือ สังขาร, ขันธ์เป็นที่ยึดมั่นคือ วิญญาณ.
ภิกษุ ท. ! ธรรมเหล่าไหนเล่า เป็น ธรรมอันพึงละด้วยปัญญาอันยิ่ง ? คำตอบพึงมีว่า อวิชชา และ ภวตัณหา.
ภิกษุ ท. ! ธรรมเหล่าไหนเล่า เป็น ธรรมอันพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ? คำตอบพึงมีว่า วิชชา และ วิมุตติ.
ภิกษุ ท. ! ธรรมเหล่าไหนเล่า เป็น ธรรมอันพึงทำให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ? คำตอบพึงมีว่า สมถะ และ วิปัสสนา.
ภิกษุ ท. ! เมื่อภิกษุ เจริญทำให้มากซึ่งอริยอัฏฐังคิกมรรคอยู่ อย่างไรเล่า (จึงจะ มีผล 4 ประการนั้น) ?
ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ภิกษุย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ …. สัมมาสังกัปปะ …. สัมมาวาจา …. สัมมากัมมันตะ …. สัมมาอาชีวะ …. สัมมาวายามะ …. สัมมาสติ …. สัมมาสมาธิ ชนิดที่ มีวิเวกอาศัยแล้ว มีวิราคะอาศัยแล้ว มีนิโรธอาศัยแล้ว มีปกติน้อมไปเพื่อการสลัดลง.
ภิกษุ ท. ! เมื่อภิกษุเจริญทำให้มากซึ่งอริยอัฏฐังคิกมรรคอยู่ อย่างนี้แล (จึงมีผล 4 ประการนั้น).
- มหาวาร. สํ. 19/77 - 78/290 - 295.
(ธรรม 4 อย่างในสูตรนี้ เรียงลำดับไว้เป็น ธรรมควรกำหนดรู้ ควรละ ควรทำให้แจ้ง ควรทำให้เจริญ ตรงกับหลักธรรมดาทั่ว ๆ ไป ของอริยสัจ 4 ; แต่มีสูตรอื่น (อุปริ. ม. 14/524/829) เรียงลำดับไว้เป็นอย่างอื่นคือ ธรรมควรกำหนดรู้ ควรละ ควรทำให้เจริญ ควรทำให้แจ้ง, ดังนี้ก็มี ; แต่ก็ยังคงเป็นอริยสัจ 4 ได้อยู่นั่นเอง ไม่มีผลเป็นการขัดแยังกันแต่ประการใด.
พระบาลีในสูตรนี้ แสดงลักษณะของอริยอัฏฐังคิกมรรคไว้เป็น วิเวกนิสฺสิต วิราคนิสฺสิต นิโรธนิสฺสิต โวสฺสคฺคปริณามี ; มีสูตรอื่น ๆ แสดงลักษณะของอริยอัฏฐังคิกมรรคในกรณีเช่นนี้ แปลกออกไปเป็น ราควินยปริโยสาน : มีการนำออกซึ่งราคะเป็นปริโยสาน, โทสวินยปริโยสาน : มีการนำออกซึ่งโทสะเป็นปริโยสาน, โมหวินยปริโยสาน : มีการนำออกซึ่งโมหะเป็นปริโยสาน (19/69/267) ; อมโตคธ : หยั่งลงสู่อมตะ, อมตปรายน : มีเบื้องหน้าเป็นอมตะ, อมตปริโยสาน : มีอมตะเป็นปริโยสาน (19/69/269) ; นิพฺพานนินฺน : เอียงไปสู่นิพพาน, นิพฺพานโปณ : โน้มไปสู่นิพพาน นิพฺพานปพฺภาร : เงื้อมไปสู่นิพพาน (19/70/271) ; ดังนี้ก็มี ; แม้โดยพยัญชนะจะต่างกัน แต่ก็มุ่งไปยังความหมายอย่างเดียวกัน.
ข้อควรสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ วัตถุแห่งกิจของอริยสัจในสูตรนี้ แสดงไว้ต่างจากสูตรที่รู้กันอยู่ทั่วไป, คือสูตรทั่ว ๆ ไป วัตถุแห่งการกำหนดรู้ แสดงไว้ด้วยความทุกข์ทุกชนิด สูตรนี้แสดงไว้ด้วยปัญจุปาทานขันธ์เท่านั้น ; วัตถุแห่งการละ สูตรทั่ว ๆ ไป แสดงไว้ด้วยตัณหา 3 สูตรนี้แสดงไว้ด้วยอวิชชาและภวตัณหา ; วัตถุแห่งการทำให้แจ้ง สูตรทั่ว ๆ ไป แสดงไว้ด้วยการดับแห่งตัณหา สูตรนี้แสดงไว้ด้วยวิชชาและวิมุตติ ; วัตถุแห่งการทำให้เจริญ สูตรทั่ว ๆ ไป แสดงไว้ด้วยอริยอัฏฐังคิกมรรค ส่วนในสูตรนี้แสดงไว้ด้วยสมถะและวิปัสสนา. ถ้าผู้ศึกษาเข้าใจความหมายของคำที่แสดงไว้แต่ละฝ่ายอย่างทั่วถึงแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าไม่ขัดขวางอะไรกัน).