ลักษณะแห่งสัมมาสมาธิชั้นเลิศ 5 ประการ

ภิกษุ ท.! เราจักแสดงการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ 5 อันเป็นอริยะ. ภิกษุ ท.! การเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ 5 อันเป็นอริยะ นั้นเป็นอย่างไรเล่า?

1. ภิกษุ ท.! ในกรณีนี้ ภิกษุ เพราะสงัดจากกามและสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงบรรลุ ฌานที่ 1 ซึ่งมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแก่วิเวก แล้วแลอยู่. เธอ ประพรมกายนี้ทำให้ชุ่มทั่ว ชุ่มรอบ เต็มรอบ ด้วยปีติและสุขอันเกิดแก่วิเวก นั้น, ส่วนใดส่วนหนึ่งของกายเธอทั่วทั้งตัว ทีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกนั้น ไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี. ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือน นายช่างอาบ ก็ดี หรือลูกมือของเขาก็ดีเป็นคนฉลาด โรยผงที่ใช้สำหรับถูตัวในเวลาอาบน้ำลงในขันสำริด แล้วพรมน้ำหมักไว้, ครั้นเวลาเย็น ก้อนผงออกยางเข้ากัน ซึมทั่วกันแล้ว จับกันทั้งภายในภายนอก ไม่ไหลหยด ฉันใด; ภิกษุ ท.! ประพรมกายนี้ทำให้ชุ่มทั่ว ชุ่มรอบ เต็มรอบ ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก, ส่วนใดส่วนหนึ่งของกายเธอ ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี, ฉันนั้นเหมือนกัน. ภิกษุ ท.! นี้คือ การเจริญสัมมาสมาธิ ที่ประกอบด้วยองค์ 5 อันเป็นอริยะ ประการที่ 1.

2. ภิกษุ ท.! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะสงบวิตกวิจารเสียได้ จึงบรรลุ ฌานที่ 2 อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน นำให้เกิดสมาธิ มีอารมณ์อันเดียว ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่. เธอ ประพรมกายนี้ทำให้ชุ่มทั่ว ชุ่มรอบ เต็มรอบ ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ, ส่วนใดส่วนนึงของการเธอทั่วทั้งตัว ทีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี.

ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือน ห้วงน้ำอันลึก มีน้ำพลุ่งขึ้น ไม่มีปากทางน้ำเข้าทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ แห่งห้วงน้ำนั้น และฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล แต่ขณะนั้นท่อน้ำเย็นพลุ่งขึ้นจากห้วงน้ำนั้น ไหลทับไหลท่วม แผ่ทั่วเต็มไปหมดซึ่งห้วงน้ำนั้นเอง ด้วยน้ำอันเย็น, ส่วนไหนๆ ของห้วงน้ำนั้นที่น้ำเย็นไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี, ข้อนี้ฉันใด; ภิกษุ ท.! ภิกษุประพรมกายนี้ให้ชุ่มทั่ว ชุ่มรอบ เต็มรอบ ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ, ส่วนใดส่วนหนึ่งสนกายเธอ ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี, ฉันนั้นเหมือนกัน. ภิกษุ ท.! นี้คือ การเจริญสัมมาสมาธิ ที่ประกอบด้วยองค์ 5 อันเป็นอริยะ ประการที่ 2.

3. ภิกษุ ท.! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย จึงบรรลุ ฌานที่ 3 อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า “ ผู้ได้บรรลุฌานนี้ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข “ ดังนี้ แล้วแลอยู่. เธอ ประพรมกายนี้ทำให้ชุ่มทั่ว ชุ่มรอบ เต็มรอบ ด้วย สุขหาปีติมิได้, ส่วนใดส่วนหนึ่งของกายเธอทั่วทั้งตัว ที่สุขหาปีติมิได้ ไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี.

ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือนใน หนองบัวอุบล หนองบัวปทุม หนองบัวบุณฑริก มีดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางเหล่าที่เกิดอยู่ในน้ำ เจริญอยู่ในน้ำ ยังไม่ขึ้นพ้นน้ำ จมอยู่ภายใต้อันน้ำเลี้ยงไว้, ดอกบัวเหล่านั้น ถูกน้ำเย็นแช่ชุ่ม ถูกต้องตั้งแต่ยอดตลอดราก, ส่วนไหนๆ ของดอกบัวเหล่านั้นทั่วทั้งดอก ที่น้ำเย็นไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี. ข้อนี้เป็นฉันใด; ภิกษุ ท.! ภิกษุ ประพรมกายนี้ทำให้ชุ่มทั่ว ชุ่มรอบ เต็มรอบ ด้วยสุขหาปีติมิได้, ส่วนใดส่วนหนึ่งในกายเธอ ที่สุขหาปีติมิได้ ไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี, ฉันนั้นเหมือนกัน. ภิกษุ ท.! นี้คือ การเจริญสัมมาสมาธิ ที่ประกอบด้วยองค์ห้า อันเป็นอริยะ ประการที่ 3.

4. ภิกษุ ท.! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ, เพราะละสุขและละทุกข์เสียได้, เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน, จึงบรรลุ ฌานที่ 4 อันไม่ทุกข์ไม่สุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. เธอนั้น นั่งแผ่ไปตลอดกายนี้ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องใส, ส่วนใดส่วนหนึ่งของกายเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี.

ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือน ชายคนหนึ่ง นั่งคลุมตัว ด้วยผ้าขาวตลอดศีรษะ, ส่วนไหน ๆ ในกายเธอทั่วทั้งตัว ที่ผ้าขาวไม่ถูกต้องแล้ว (คือไม่คลุมแล้ว) มิได้มี. ข้อนี้เป็นฉันใด; ภิกษุ ท.! ภิกษุนั่งแผ่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องใสไปตลอดกายนี้, ส่วนใดส่วนหนึ่งในกายเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี, ฉันนั้นเหมือนกัน. ภิกษุ ท.! นี้คือ การเจริญสัมมาสมาธิ ที่ประกอบด้วยองค์ห้า อันเป็นอริยะ ประการที่ 4.

5. ภิกษุ ท.! ข้ออื่นยังมีอีก : ปัจจเวกขฌนิมิต เป็นสิ่งที่ภิกษุนั้นถือเอาแล้วด้วยดี กระทำในใจแล้วด้วยดี เข้าไปทรงไว้ดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา (ชัดเจน) เปรียบเหมือน คนคนหนึ่ง เห็นคนอีกคนหนึ่ง หรือว่าเหมือน คนยืน เห็นคนนั่ง หรือว่าเหมือน คนนั่งเห็นคนนอน, ฉันใดฉันนั้น ที่ปัจจเวกขณนิมิต เป็นสิ่งที่ภิกษุนั้นถือเอาแล้วด้วยดี กระทำในใจแล้วด้วยดี: เข้าไปทรงไว้ดีแล้ว แทงตลอดดีแล้ว ด้วยปัญญา. ภิกษุ ท.! นี้คือ การเจริญสัมมาสมาธิ ที่ประกอบด้วยองค์ 5 อันเป็นอริยะ ประการที่ 5.

ภิกษุ ท.! เมื่อสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ 5 อันเป็นอริยะ อันภิกษุเจริญกระทำให้มากแล้ว อย่างนี้ ภิกษุย่อมน้อมจิตไปเพื่อกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมใดๆ ที่ควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งอยู่ ในธรรมอันควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งนั้น ๆ นั่นแหล่ะ เธอนั้นย่อมลุถึงซึ่งความสามารถทำได้จนเป็นสักขีพยาน ในเมื่ออายตนะยังมีอยู่ ๆ. ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือน หม้อน้ำมีหูจับ ตั้งอยู่บนเชิงรอง เต็มด้วยน้ำเสมอขอบปากกาดื่มได้ บุรุษมีกำลังจับหม้อน้ำนั้นหมุนไปทางใด ๆ น้ำย่อมกระฉอกไปทางนั้น ๆ มิใช่หรือ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า!” ภิกษุ ท.! ฉันใดก็ฉันนั้น ที่เมื่อสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ 5 อันเป็นอริยะ อันภิกษุเจริญกระทำให้มากแล้ว อย่างนี้ ภิกษุย่อมน้อมจิตไปเพื่อกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมใด ๆ ที่ควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งอยู่ ในธรรมอันควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งนั้น ๆ นั่นแหล่ะ เธอนั้นย่อมลุถึงซึ่งความสามารถทำได้จนเป็นสักขีพยาน ในเมื่อายตนะ ยังมีอยู่ ๆ.

ภิกษุ ท.! หรือเปรียบเหมือน สระโบกขรณี 4 เหลี่ยม กั้นไว้ด้วยขอบคัน เต็มด้วยน้ำเสมอขอบปากกาดื่มได้ มีบุรุษผู้มีกำลังมาเจาะขอบคันที่ใด ๆ น้ำย่อมไหลออกมาโดยที่นั้น ๆ มิใช่หรือ ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า!” ภิกษุ ท.! ฉันใดก็ฉันนั้น ที่เมื่อสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ 5 อันเป็นอริยะ อันภิกษุเจริญ กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้ ภิกษุย่อมน้อมจิตไปเพื่อกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมใด ๆ ที่ควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งอยู่ ในธรรมอันควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งนั้นๆ นั่นแหล่ะ เธอนั้นย่อมลุถึงซึ่งความสามารถทำได้จนเป็นสักขีพยาน ในเมื่ออายตนะยังมีอยู่ ๆ.

ภิกษุ ท.! หรือเปรียบเหมือน รถเทียมด้วยม้าอาชาไนยที่ฝึกดีแล้ว ผูกเครื่องผูกครบถ้วนแล้ว เป็นรถที่จอดอยู่ที่หนทางสี่แพร่ง มีภูมิภาคอันดี สารถีผู้เชี่ยวชาญในการฝึกม้า เป็นชั้นอาจารย์ ขยันขันแข็ง ขึ้นสู่รถนั้นแล้ว จับเชือกด้วยมือซ้าย จับปฏักด้วยมือขวา เพียงแต่ยกปฏักขึ้นเป็นสัญญาณ ก็สามารถให้ม้าพารถไปข้างหน้า หรือให้ถอยกลับไปข้างหลัง ได้ตามที่ตนปรารถนา, นี้ฉันใด ; ภิกษุ ท.! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือเมื่อสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ 5 อันเป็นอริยะ อันภิกษุเจริญ กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้ ภิกษุย่อมน้อมจิตไปเพื่อกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมใดๆ ที่ควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งอยู่ ในธรรมอันควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งนั้น ๆ นั่งแหล่ะ เธอนั้นย่อมลุถึงซึ่งความสามารถทำได้จนเป็นสักขีพยาน ในเมื่ออายตนะยังมีอยู่ ๆ.

- ปญฺจก. อํ ๒๒/๒๖ – ๓๐/๒๘.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง