ไปยังหน้า : |
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ว่าโดยสังเขป, ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าใด ภิกษุจึงเป็นผู้พ้นวิเศษแล้วเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา มีความสำเร็จถึงที่สุดยิ่ง เกษมจากโยคะถึงที่สุดยิ่ง มีพรหมจรรย์ถึงที่สุดยิ่ง จบกิจถึงที่สุดยิ่ง เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทพและมนุษย์ทั้งหลาย ?”
ท่านผู้จอมเทพ ! หลักธรรมอันภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับแล้ว ย่อมมีอยู่ว่า “สิ่งทั้งปวงอันใคร ๆ ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น (ว่าเป็นตัวเรา - ของเรา)” ดังนี้. เมื่อเธอได้สดับดังนี้แล้ว ย่อม รู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวง, ครั้นรู้ยิ่งแล้ว ก็ รอบรู้ซึ่งธรรมทั้งปวง, ครั้นรอบรู้แล้ว ได้รู้สึกความรู้สึกอันใดอันหนึ่ง จะเป็นสุข หรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุขก็ตาม เธอย่อม มองเห็นความไม่เที่ยงแท้ ในความรู้สึก (เวทนา) ทั้งหลายเหล่านั้น มองเห็นความคลายกำหนัด มองเห็นความดับไม่เหลือ มองเห็นความสลัดคืน อยู่. เมื่อเธอมองเห็นความไม่เที่ยงแท้ในเวทนาทั้งหลายเหล่านั้น มองเห็น (คือรู้สึก) ความคลายกำหนัด มองเห็นความดับไม่เหลือ มองเห็นความสลัดคืน (ของตน) อยู่เนืองนิจ ก็ไม่ยึดถือด้วยใจ ซึ่งอะไร ๆ ในโลก, เมื่อไม่ยึดถือก็ไม่สะดุ้งใจ, เมื่อไม่สะดุ้งใจ ชื่อว่าดับสนิทรอบในภายใน นั่นเทียว, เธอย่อมรู้สึกตนชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก” ดังนี้.
ท่านผู้จอมเทพ ! ว่าโดยสังเขป, ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่า พ้นวิเศษแล้วเพราะความสิ้นตัณหา มีความสำเร็จถึงที่สุดยิ่ง เกษมจากโยคะถึงที่สุดยิ่ง มีพรหมจรรย์ถึงที่สุดยิ่ง จบกิจถึงที่สุดยิ่ง เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทพและมนุษย์ทั้งหลาย.
- มู. ม. ๑๒/๔๖๔/๔๓๔.