ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! ถ้าปริพพาชกเดียรถีย์เหล่าอื่น พึงถามอย่างนี้ว่า “อาวุโส ! ธรรมทั้งปวง มีอะไรเป็นมูลราก ? ธรรมทั้งปวง มีอะไรเป็นแดนเกิด ? ธรรมทั้งปวง มีอะไรเป็นสมุทัย ? ธรรมทั้งปวง มีอะไรเป็นที่ประชุมลง (สโมสรณ) ? ธรรมทั้งปวง มีอะไรเป็นประมุข ? ธรรมทั้งปวง มีอะไรเป็นอธิบดี (อธิปเตยฺย) ? ธรรมทั้งปวง มีอะไรเป็นอันดับสูงสุด (อุตฺตร) ? ธรรมทั้งปวง มีอะไรเป็นแก่น (สาร) ? ธรรมทั้งปวง มีอะไรเป็นที่หยั่งลง (อโคธ) ? มีอะไรเป็นที่สุดจบ (ปริโยสาน) ?” ดังนี้แล้วไซร้ ;
ภิกษุ ท. ! พวกเธอถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่ปริพพาชกเดียรถีย์อื่นเหล่านั้น อย่างนี้ว่า “อาวุโส ท. !
ธรรมทั้งปวง มี ฉันทะ (ความพอใจหรือสนใจ) เป็น มูลราก. ธรรมทั้งปวง มี มนสิการ (การเอามากระทำไว้ในใจ) เป็น แดนเกิด. ธรรมทั้งปวง มี ผัสสะ (การกระทบแห่งอายตนะ) เป็นสมุทัย (เครื่องก่อให้ตั้งขึ้น). ธรรมทั้งปวง มี เวทนา เป็น ที่ประชุมลง (แห่งผล). ธรรมทั้งปวง มี สมาธิ เป็น ที่ประมุข (หัวหน้า). ธรรมทั้งปวง มี สติ เป็น อธิบดี (ตามสายงาน). ธรรมทั้งปวง มี ปัญญา เป็น อันดับสูงสุด (แห่งความรู้). ธรรมทั้งปวง มี วิมุตติ เป็น แก่น (แห่งผลที่ได้รับ). ธรรมทั้งปวง มี อมตะ (ความไม่ตาย) เป็น ที่หยั่งลง (แห่งวัตถุประสงค์). ธรรมทั้งปวง มี นิพพาน เป็น ที่สุดจบ (แห่งพรหมจรรย์).
ภิกษุ ท. ! พวกเธอถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่ปริพพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น อย่างนี้แล.
- ทสก. อํ. 24/113/58.