ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท.! ในบรรดาองค์แห่งอริยสัมมาสมาธินั้น สัมมาทิฏฐิเป็นธรรมนำหน้า. นำหน้าอย่างไร ? คือเขารู้มิจฉากัมมันตะ ว่าเป็นมิจฉากัมมันตะ, รู้สัมมากัมมันตะ ว่าเป็นสัมมากัมมันตะ; ความรู้ของเขานั้นเป็น สัมมาทิฏฐิ.
ภิกษุ ท.! มิจฉากัมมันตะ เป็นอย่างไรเล่า ? ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร. ภิกษุ ท.! นี้คือ มิจฉากัมมันตะ.
ภิกษุ ท.! สัมมากัมมันตะ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! เรากล่าวแม้สัมมากัมมันตะว่ามีอยู่ 2 ชนิด คือ สัมมากัมมันตะ ที่ยังเป็นไปด้วยอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ มีผลเนื่องอยู่กับของหนัก ก็มีอยู่; สัมมากัมมันตะ อันเป็นอริยะ ไม่เป็นไปด้วยอาสวะ นำขึ้นสูระดับเหนือโลก เป็นองค์ประกอบแห่งหนทางเพื่อนิพพาน ก็มีอยู่.
ภิกษุ ท.! สัมมากัมมันตะ ที่ยังเป็นไปด้วยอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญมีผลเนื่องอยู่กับของหนัก นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? นั้นคือ เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากปาณาติบาต เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากอทินนาทาน เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร. ภิกษุ ท.! นี้คือ สัมมากัมมันตะ ที่ยังเป็นไปด้วยอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ มีผลเนื่องอยู่กับของหนัก.
ภิกษุ ท.! สัมมากัมมันตะ อันเป็นอริยะ ไม่เป็นไปด้วยอาสวะ นำขึ้นสู่ระดับเหนือโลก เป็นองค์ประกอบแห่งหนทางเพื่อนิพพาน นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ธรรมคือ การงด การเว้น การเว้นขาด และเจตนาเป็นเครื่องเว้น จากกายทุจริตทั้งสาม (ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างบน) ของผู้มีอริยจิต ของผู้มีอนาสวจิต ของผู้เป็นอริยมัคคสมังคี ผู้เจริญอยู่ซึ่งอริยมรรค ใดแล; ภิกษุ ท.! นี้คือ สัมมากัมมันตะ อันเป็นอริยะ ไม่เป็นไปด้วยอาสวะ นำขึ้นสู่ระดับเหนือโลก เป็นองค์ประกอบแห่งหนทางเพื่อนิพพาน.
เขานั้น เพียรพยายามเพื่อละเสียซึ่งมิจฉากัมมันตะ เพื่อทำสัมมากัมมันตะให้ถึงพร้อม ; ความเพียรพยายามของเขานั้น เป็นสัมมาวายามะ. เขามีสติละเสียซึ่งมิจฉากัมมันตะ มีสติทำสัมมากัมมันตะให้ถึงพร้อม แล้วแลอยู่; สติของเขานั้นเป็น สัมมาสติ.
ด้วยอาการอย่างนี้ เป็นอันว่า ธรรม 3 อย่างนั้น ย่อม ติดตามแวดล้อมซึ่งสัมมากัมมันตะ; 3 อย่างนั้นได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ.