ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ภิกษุบางรูป เป็นคนเขลา ไม่เฉียบแหลม ไม่ฉลาด เป็นผู้ ตามเห็นกายในกาย มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่. เมื่อเธอนั้นตามเห็นกายในกายอยู่ (เพราะความเขลาแห่งตน) ก็ทำจิตให้ตั้งมั่นไม่ได้ ทำอุปกิเลสให้ละไปไม่ได้ กำหนดนิมิตนั้นไม่ได้. (ในกรณีแห่ง เวทนา จิต และธรรม ก็มีข้อความที่ตรัสอย่างเดียวกัน).
ภิกษุ ท. ! ภิกษุซึ่งเป็นคนเขลา ไม่เฉียบแหลม ไม่ฉลาด นั้น จึงเป็นผู้ไม่ได้สุขวิหารในทิฏฐธรรมเลย ไม่ได้สติสัมปชัญญะ. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ภิกษุนั้นเป็นคนเขลา ไม่เฉียบแหลม ไม่ฉลาด กำหนดนิมิตแห่งจิตของตนไม่ได้.
ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ภิกษุบางรูป เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม ฉลาด เป็นผู้ ตามเห็นกายในกาย มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก อยู่. เมื่อเธอนั้นตามเห็นกายในกาย อยู่ (เพราะความฉลาดของตน) ก็ทำจิตให้ตั้งมั่นได้ ทำอุปกิเลสให้ละไปได้ กำหนดนิมิตนั้นได้. (ในกรณีแห่ง เวทนา จิต และธรรม ก็มีข้อความที่ตรัสอย่างเดียวกัน).
ภิกษุ ท. ! ภิกษุซึ่งเป็นบัณฑิต เฉียมแหลม ฉลาด นั้น จึงเป็นผู้ได้สุขวิหารในทิฏฐธรรมเทียว ได้สติสัมปชัญญะ. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ภิกษุนั้นเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม ฉลาด กำหนดนิมิตแห่งจิตของตนได้.
- มหาวาร. ส. ๑๙/๒๐๑, ๒๐๒/๗๐๕, ๗๐๗.