ไปยังหน้า : |
(พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสแก่ภิกษุชื่อเถระ ผู้มีปกติชอบอยู่คนเดียวจนเป็นที่เล่าลือกันในหมู่ภิกษุ, ว่า :-)
ดูก่อนเถระ ! การอยู่คนเดียวอย่างของเธอ ก็มีอยู่ เรามิได้กล่าวว่าไม่มี ; แต่ว่ายังมีการอยู่คนเดียวที่บริบูรณ์พิสดาร กว่าชนิดของเธอ, เธอจงตั้งใจฟังให้ดี, เราจักกล่าว.
ดูก่อนเถระ ! การอยู่คนเดียวชนิดที่บริบูรณ์พิสดารกว่าชนิดของเธอนั้น เป็นอย่างไรเล่า? ดูก่อนเถระ ! การอยู่คนเดียวในกรณีนี้คือ สิ่งเป็นอดีตก็ละได้แล้ว สิ่งเป็นอนาคตก็ไม่มีทางจะเกิดขึ้น ส่วนฉันทราคะในอัตตภาพ อันได้แล้วทั้งหลาย อันเป็นปัจจุบัน ก็นำออกแล้วหมดสิ้น. ดูก่อนเถระ ! อย่างนี้แล เป็นการอยู่คนเดียวที่บริบูรณ์พิสดารกว่าการอยู่คนเดียวชนิดของเธอ.
(คาถาผนวกท้ายพระสูตร)
นรชนผู้มีปัญญาดี ครอบงำอารมณ์ทั้งปวงได้ รู้ธรรมทั้งปวง ไม่ข้องติดอยู่ในธรรมทั้งหลายทั้งสิ้น ละอุปธิทั้งปวง หลุดพ้นพิเศษแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา นั้นเราเรียกเขาว่า ผู้มีปกติอยู่คนเดียว.
- นิทาน. สํ. 16/329-330/719-721.
(ข้อความที่มีปัญหายากแก่การแปลในสูตรนี้ มีอยู่ คือข้อความที่ว่า "ปจฺจุปฺป นฺเนสุจ อตฺตภาวปฏิลาเภสุ ฉนฺทราโค" ; หลังจากใคร่ครวญทบทวนดูแล้ว เห็นว่าต้องแปลว่า "ส่วนฉันทราคะในอัตตภาพอันได้แล้วทั้งหลาย อันเป็นปัจจุบัน" หมายความว่า ฉันทราคะมีในอัตตภาพซึ่งได้แล้วมากครั้งในปัจจุบัน ไม่ใช่ฉันทราคะมีในการได้.
อัตตภาพในกรณีเช่นนี้ หมายถึงภพหรือความมีความเป็นในรูปแบบหนึ่ง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ในวิถีแห่งการปรุงแต่งทางจิต ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท อันเกิดขึ้นทุกขณะที่มีอตัณหาอันเกิดจากเวทนา ซึ่งวันหนึ่งก็มีได้หลายครั้ง ท่านจึงใช้รูปศัพท์เป็นพหุพจน์ คือ ....ปฏิลาเภสุ และจัดเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องของปัจจุบัน ; ดังนั้น การไม่ข้องติดจึงมีครบชุด คืออดีต-อนาคต-ปัจจุบัน; ผู้หลุดพ้นเสียได้ครบถ้วน เรียกว่า ผู้อยู่คนเดียวในระดับที่สมบูรณ์ ลึกซึ้งที่สุด).