กรรมที่เป็นเหตุให้ได้รับผลเป็นความไม่กระเสือกกระสน

ภิกษุ ท. ! สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กระทำกรรมใดไว้ดีก็ตามชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น.

ภิกษุ ท. ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศัสตรา มีความละอาย ถึงความเอ็นดูกรุณาเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย. เขาไม่กระเสือกกระสนด้วย (กรรมทาง) กาย ไม่กระเสือกกระสนด้วย (กรรมทาง) วาจา ไม่กระเสือกกระสนด้วย (กรรมทาง) ใจ ; กายกรรมของเขาตรง วจีกรรมของเขาตรง มโนกรรมของเขาตรง ; คติของเขาตรง อุปบัติของเขาตรง. ภิกษุ ท. ! สำหรับผู้มีคติตรง มีอุปบัติตรงนั้น เรากล่าวคติอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาคติสองอย่าง แก่เขา คือเหล่าสัตว์ผู้มีสุขโดยส่วนเดียว17.1 หรือว่า ตระกูลอันสูง ตระกูลขัตติยมหาศาล ตระกูลพราหมณ์มหาศาล หรือตระกูลคหบดีมหาศาลอันมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีอุปกรณ์แห่งทรัพย์มาก. ภิกษุ ท. ! ภูตสัตว์ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ คืออุปบัติ (การเข้าถึงภพ) ย่อมมีแก่ภูตสัตว์, เขาทำกรรมใดไว้ เขาย่อมอุปบัติด้วยกรรมนั้น, ผัสสะทั้งหลายย่อมถูกต้องภูตสัตว์นั้นผู้อุปบัติแล้ว. ภิกษุ ท. ! เรากล่าวว่า สัตว์ทั้งหลาย เป็นทายาทแห่งกรรม ด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้.

(ในกรณีแห่งบุคคลผู้ไม่กระทำอทินนาทาน ไม่กระทำกาเมสุมิจฉาจาร ก็ได้ตรัสไว้ด้วยข้อความอย่างเดียวกันกับในกรณีของผู้ไม่กระทำปาณาติบาต ดังกล่าวมาแล้วข้างบนทุกประการ ; และยังได้ตรัสเลยไปถึงวจีสุจริต 4 มโนสุจริต 3 ด้วยข้อความอย่างเดียวกันอีกด้วย).

ภิกษุ ท. ! นี้แล คือ ธรรมปริยาย อันแสดงความกระเสือกกระสนไปตามกรรม (ของหมู่สัตว์)

- ทสก. อํ. 24/311/193.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง