ไปยังหน้า : |
(ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทอดพระเนตรเห็นพระมหากัปปินะ ผู้มีกายไม่โยกโคลง แล้วได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า :-)
ภิกษุ ท. ! พวกเธอเห็นความหวั่นไหว หรือความโยกโคลงแห่งกายของมหากัปปินะบ้างหรือไม่ ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เวลาใดที่ข้าพระองค์ทั้งหลาย เห็นท่านผู้มีอายุนั่งในที่ท่ามกลางสงฆ์ก็ดี นั่งในที่ลับคนเดียวก็ดี ในเวลานั้นๆ ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ได้เห็นความหวั่นไหว หรือความโยกโคลงแห่งกายของท่านผู้มีอายุรูปนั้นเลย พระเจ้าข้า !”
ภิกษุ ท. ! ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งกายก็ตาม ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งจิตก็ตาม มีขึ้นไม่ได้เพราะการเจริญทำให้มากซึ่งสมาธิใด ; ภิกษุ มหากัปปินะนั้น เป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้ไม่ยาก ได้ไม่ลำบาก ซึ่งสมาธินั้น.
ภิกษุ ท. ! ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งกายก็ตาม ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งจิตก็ตาม มีขึ้นไม่ได้เพราะการเจริญทำให้มากซึ่งสมาธิเหล่าไหนเล่า ? ภิกษุ ท. ! ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งกายก็ตาม ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งจิตก็ตาม ย่อมมีไม่ได้เพราะการเจริญทำให้มากซึ่งอานาปานสติสมาธิ.
ภิกษุ ท. ! เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว อย่างไรเล่า ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งกายก็ตาม ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งจิตก็ตาม จึงไม่มี ?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ไปแล้วสู่ป่าก็ตาม ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ตาม ไปแล้วสู่เรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบแล้ว ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น ; ภิกษุนั้นมีสติอยู่นั่นเทียว หายใจเข้า มีสติอยู่ หายใจออก : เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่าหายใจเข้ายาว, .... ฯลฯ .... (ตรัสอานาปานสติ อันมีวัตถุ 16 ดังที่มีปรากฏที่หน้า 1181 แห่งหนังสือเล่มนี้ หัวข้อว่า “แบบการเจริญอานาปานสติที่มีผลมาก” ตั้งแต่หน้า 1182 ถึงหน้า 1184) .... เห็นความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งกายก็ตาม ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งจิตก็ตาม ย่อมมีไม่ได้ ดังนี้.
- มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๙๙ - ๔๐๐/๑๓๒๒ - ๑๓๒๖.