สัมมาวาจา โดยปริยาย 2 อย่าง (โลกิยะ - โลกุตตระ)

ภิกษุ ท. ! สัมมาวาจา เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! เรากล่าวแม้สัมมาวาจาว่ามีโดยส่วนสอง คือ สัมมาวาจาที่ยังเป็นไปกับด้วยอาสวะ (สาสวา) เป็นส่วนแห่งบุญ (ปุญฺญภาคิย) มีอุปธิเป็นวิบาก (อุปธิเวปกฺก) ก็มีอยู่ ; สัมมาวาจาอันเป็นอริยะ (อริย) ไม่มีอาสวะ (อนาสว) เป็นโลกุตตระ (โลกุตฺตร) เป็นองค์แห่งมรรค (มคฺคงฺค) ก็มีอยู่

ภิกษุ ท. ! สัมมาวาจาที่ยังเป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ มีอุปธิเป็นวิบาก นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากมุสาวาท (คำเท็จ) เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากปิสุณวาท (คำส่อเสียด) เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากผรุสวาท (คำหยาบ) เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากสัมผัปปลาปวาท (คำเพ้อเจ้อ) ภิกษุ ท. ! นี้คือ สัมมาวาจาที่ยังเป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ มีอุปธิเป็นวิบาก

ภิกษุ ท. ! สัมมาวาจาอันเป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? คือ การงด (อารติ) การเว้น (วิรติ) การเว้นขาด (ปฏิวิรติ) และเจตนาเป็นเครื่องเว้น (เวรมณี) จากวจีทุจริตทั้งสี่ (ตามที่กล่าวแล้วข้างบน) ของผู้มีอริยจิต ของผู้มีอนาสวจิต ของผู้เป็นอริยมัคคสมังคี ผู้เจริญอยู่ซึ่งอริยมรรค. ภิกษุ ท. ! นี้คือ สัมมาวาจาอันเป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค.

- อุปริ. ม. 14/183 - 184/266 - 268.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง