ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! บุถุชนผู้ไม่ได้มีการสดับ จะพึงเบื่อหน่ายได้บ้าง พึงคลายกำหนัดได้บ้าง พึงปล่อยวางได้บ้าง ในกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง 4 นี้. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า การก่อขึ้นก็ดี การสลายลงก็ดี การถูกยึดครองก็ดี การทอดทิ้งซากไว้ก็ดี แห่งกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้งสี่นี้ ย่อมปรากฏอยู่. เพราะเหตุนั้น บุถุชนผู้ไม่ได้มีการสดับ จึงเบื่อหน่ายได้บ้าง จึงคลายกำหนัดได้บ้าง จึงปล่อยวางได้บ้าง ในกายนั้น. ภิกษุ ท. ! ส่วนสิ่งที่เรียกกันว่า “จิต” ก็ดี ว่า “มโน” ก็ดี ว่า “วิญญาณ” ก็ดี บุถุชนผู้ไม่ได้มีการสดับ ไม่อาจจะเบื่อหน่าย ไม่อาจจะคลายกำหนัด ไม่อาจจะปล่อยวาง ซึ่งจิตนั้น. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า สิ่งที่เรียกว่าจิตเป็นต้นนี้ เป็นสิ่งที่บุถุชนผู้ไม่ได้มีการสดับ ได้ถึงทับแล้วด้วยตัณหา ได้ยึดถือแล้วด้วยทิฏฐิโดยความเป็นตัวตน มาตลอดกาลช้านานว่า “นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา” ดังนี้ ; เพราะเหตุนั้น บุถุชนผู้ไม่ได้มีการสดับ จึงไม่อาจจะเบื่อหน่าย ไม่อาจจะคลายกำหนัด ไม่อาจจะปล่อยวาง ซึ่งสิ่งที่เรียกว่าจิตเป็นต้นนั้น.
ภิกษุ ท. ! บุถุชนผู้ไม่ได้มีการสดับ จะพึงเข้าไปยึดถือเอากายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง 4 นี้ โดยความเป็นตัวตน ยังดีกว่า. แต่จะเข้าไปยึดถือเอาจิตโดยความเป็นตัวตน ไม่ดีเลย. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า กายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ 4 นี้ ดำรงอยู่ ปีหนึ่งบ้าง 2 ปีบ้าง 3 ปีบ้าง 4 ปีบ้าง 5 ปีบ้าง 10 ปีบ้าง 20 ปีบ้าง 30 ปีบ้าง 40 ปีบ้าง 50 ปีบ้าง ร้อยปีบ้าง เกินกว่าร้อยปีบ้าง ปรากฏอยู่. ภิกษุ ท. ! ส่วนสิ่งที่เรียกกันว่า “จิต” ก็ดี ว่า “มโน” ก็ดี ว่า “วิญญาณ” ก็ดี นั้น ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ตลอดวัน ตลอดคืน.
ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือน วานร เมื่อเที่ยวไปอยู่ในป่าใหญ่ ย่อมจับกิ่งไม้ : ปล่อยกิ่งนั้น จับกิ่งอื่น ปล่อยกิ่งที่จับเดิม เหนี่ยวกิ่งอื่น เช่นนี้เรื่อย ๆ ไป, ข้อนี้ฉันใด ; ภิกษุ ท. ! สิ่งที่เรียกกันว่า “จิต” ก็ดี ว่า “มโน” ก็ดี ว่า “วิญญาณ” ก็ดี ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ตลอดวัน ตลอดคืน.
- นิทาน. สํ. ๑๖/๑๑๔ - ๑๑๕/๒๓๐ - ๒๓๒.
(ความรู้จักพิจารณาว่า ถ้าจะมีตัวตนกันบ้าง เอากายเป็นตัวตนดีกว่าเอาจิตเป็นตัวตน เป็นสัมมาทิฏฐิในข้อที่ว่ารู้จักเลือก, แต่ในที่นี้มิได้หมายความว่า กายนั้นเป็นตัวตนอันแท้จริงแต่ประการใด เป็นเพียงสัมมาทิฏฐิในการรู้จักแยกแยะและเลือกเท่านั้น).