ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! อธรรม เป็นสิ่งที่ควรทราบ, อนรรถ ก็เป็นสิ่งที่ควรทราบ. ธรรม เป็นสิ่งที่ควรทราบ, อรรถ ก็เป็นสิ่งที่ควรทราบ. รู้แจ้งทั้งอธรรมและอนรรถ, รู้แจ้งทั้งธรรมและอรรถแล้ว บุคคลพึงปฏิบัติตามที่เป็นธรรมตามที่เป็นอรรถ.
ภิกษุ ท. ! อะไรเป็น อธรรม และเป็น อนรรถ ? มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ มิจฉาญาณะ มิจฉาวิมุตติ. ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า อธรรม เรียกว่า อนรรถ.
ภิกษุ ท. ! อะไรเป็น ธรรม และเป็น อรรถ ? สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ. ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า ธรรม เรียกว่า อรรถ.
ภิกษุ ท. ! เราอาศัยเหตุผลดังกล่าวนี้แล เราจึงกล่าวว่า “ภิกษุ ท. ! อธรรมเป็นสิ่งที่ควรทราบ, อนรรถก็เป็นสิ่งที่ควรทราบ. ธรรมเป็นสิ่งที่ควรทราบ, อรรถก็เป็นสิ่งที่ควรทราบ. รู้แจ้งทั้งอธรรมและอนรรถ, รู้แจ้งทั้งธรรมและอรรถแล้ว บุคคลพึงปฏิบัติตามที่เป็นธรรมตามที่เป็นอรรถ” ดังนี้.
- ทสก. อํ. 24/238/113.
( ในสูตรถัดไป (24/238/114). ทรงแสดงสิ่งที่เรียกว่า อธรรม ด้วยมิจฉัตตะ, ทรงแสดงสิ่งที่เรียกว่า ธรรม ด้วยสัมมัตตะ ; ทรงแสดงสิ่งที่เรียกว่า อนรรถ ด้วยบาปอกุศลธรรมต่าง ๆ ที่เกิดจากมิจฉัตตะแต่ละอย่าง ๆ เป็นปัจจัย, และทรงแสดงสิ่งที่เรียกว่า อรรถ ด้วยกุศลธรรมต่าง ๆ ที่เกิดแต่สัมมัตตะแต่ละอย่าง ๆ เป็นปัจจัย.
ในสูตรอื่นอีก (24/273/160) ทรงแสดง อธรรม และ อนรรถ ด้วยอกุศลกัมมบถ 10 และทรงแสดง ธรรม และ อรรถ ด้วยกุศลกัมมบถ 10.
ในอีกสูตรหนึ่ง (24/281/162) ทรงแสดง อธรรม ด้วยอกุศลกัมมบถ แสดง ธรรม ด้วยกุศลกัมมบถ แสดง อนรรถ ด้วยวิบากแห่งอกุศลกัมมบถ และแสดง อรรถ ด้วยวิบากแห่งกุศลกัมมบถ).