พระโสดาบัน เป็นใครกัน ?

สารีบุุตร ! ที่มักกล่าวกันว่า 'โสดาบัน –โสดาบััน ดังนี้ เป็นอย่างไรเล่า สารีบุตร ?

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ท่านผู้ใด เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 นี้อยู่ ผู้เช่านั้นแล ข้าพระองค์เรียกว่าเป็นพระโสดาบัน ผู้มีชื่ออย่างนี้ ๆ มีโคตรอย่างนี้ ๆ พระเจ้าข้า !"

สารีบุตร ! ถูกแล้ว ถูกแล้ว ผู้ที่ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 นี้อยู่ ถึงเราเองก็เรียกผู้เช่นนั้น ว่าเป็น พระโสดาบัน ผู้มีชื่ออย่างนี้ ๆ มีโคตรอย่างนี้ ๆ.

- มหาวาร. สํ. 19/435/1432-1433.

(อีกนัยหนึ่ง)

ภิกษุ ท.! สาวกของพระอริยเจ้าในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยธรรม 4 ประการนี้เอง จึงเป็น พระโสดาบัน ผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เที่ยงแท้ต่อพระนิพพาน เป็นผู้มีอันจะตรัสรู้ธรรมได้ในกาลเบื้องหน้า. ธรรม 4 ประการนั้นเป็นอย่างไร ? 4 ประการนั้นคือ :-

(1) ภิกษุ ท.! สาวกของพระอริยเจ้าในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วย ความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่น ไม่หวั่นไหว ในองค์พระพุทธเจ้า ว่าเพราะเหตุอย่างนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและข้อปฏิบัติให้ถึงวิชชา เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้สามารถฝึกคนควรฝึกอย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้.

(2) ภิกษุ ท.! สาวกของพระอริยเจ้าในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วย ความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่น ไม่หวั่นไหว ในองค์พระธรรม ว่าพระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว, เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง, เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล, เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่าทานจงมาดูเถิด, เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว, เป็นสิ่งที่ผู้รู้ ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้.

(3) ภิกษุ ท.! สาวกของพระอริยเจ้าในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วย ความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่น ไม่หวั่นไหว ในพระสงฆ์ ว่าสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วเป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติให้รู้ธรรมเครื่องออกจากทุกข์แล้ว เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแล้ว อันได้แก่บุคคลเหล่านี้คือ คู่แห่งบุรุษสี่คู่ นับเรียงตัวได้แปดบุรุษ. นั่นแหละคือสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนับ เป็นสงฆ์ควรรับทักษิณาทาน เป็นสงฆ์ที่บุคคลทั่วไปจะพึงทำอัญชลี เป็นสงฆ์ที่เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้.

(4) ภิกษุ ท.! สาวกของพระอริยเจ้าในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วย ศีลทั้งหลายชนิดเป็นที่พอใจของเหล่าอริยเจ้า : เป็นศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นศีลที่เป็นไทจากตัณหา เป็นศีลที่ผู้รู้ท่านสรรเสริญ เป็นศีลที่ทิฏฐิไม่ลูบคลำ และเป็นศีลที่เป็นไปเพื่อสมาธิ ดังนี้.

ภิกษุ ท.! สาวกของพระอริยเจ้า ผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยธรรม 4 ประการนี้แล ชื่อว่าเป็นพระโสดาบัน ผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เที่ยงแท้ต่อพระนิพพาน เป็นผู้มีอันจะตรัสรู้ธรรมได้ในกาลเบื้องหน้า.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธวจนะดังนี้แล้ว ได้ตรัสเป็นคำร้อยกรองสืบต่อไปว่า :-

ท่านผู้ใดแล มีศรัทธา มีศีล มีความเลื่อมใส ทั้งมีการได้เห็นธรรมด้วย, ท่านผู้นั้นแหละเว้ย ที่จักเป็นผู้ได้รับความสุข อันหยั่งลงสู่พรหมจรรย์ ในกาลอันควรแล!

- มหาวาร. สํ. 19/429-430/1414-1415.

(อีกนัยหนึ่ง)

อย่ากลัวเลย มหานาม ! อย่ากลัวเลย มหานาม ! ความตายของท่านจักไม่ต่ำทราม กาลกิริยาของท่านจักไม่ต่ำทราม. มหานาม ! อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม 5 ประการ ย่อมเป็นผู้มีปกติน้อมไปในนิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน เอนไปทางนิพพานโดยแท้. ธรรม 4 ประการ อย่างไรเล่า ? ธรรม 4 ประการคือ :-

มหานาม ! อริยสาวกในกรณีนี้ (1) เป็นผู้ ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า ว่า "เพราะเหตุอย่างนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและข้อปฏิบัติให้ถึงวิชชา เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้สามารถฝึกคนควรฝึกอย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความจำเริญจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์" ดังนี้.

(2) เป็นผู้ ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระธรรม ว่า "พระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน" ดังนี้.

(3) เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระสงฆ์ ว่า "สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติให้รู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแล้ว อันได้แก่บุคคลเหล่านี้ คือ คู่แห่งบุรุษสี่คู่ นับเรียงตัวได้แปดบุรุษ นั่นแหละสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ เป็นสงฆ์ควรรับทักษิณาทาน เป็นสงฆ์ที่บุคคลทั่วไปจะพึงทำอัญชลี เป็นสงฆ์ที่เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า" ดังนี้.

(4) เป็นผู้ ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยศีลทั้งหลายชนิดเป็นที่พอใจของเหล่าพระอริยเจ้า : เป็นศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นศีลที่เป็นไทจากตัณหา เป็นศีลที่ผู้รู้ท่านสรรเสริญ เป็นศีลที่ทิฏฐิไม่ลูบคลำ และเป็นศีลที่เป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ ดังนี้.

มหานาม ! เปรียบเหมือนต้นไม้น้อมไปในทิศปราจีน โน้มไปสู่ทิศปราจีน เอนไปทางทิศปราจีน. ต้นไม้นั้น เมื่อเขาตัดที่โคนแล้ว มันจะล้มไปทางไหน ? "มักจะล้มไปทางทิศที่มันน้อมไปโน้มไป เอนไป พระเจ้าข้า !" มหานาม ! ฉันใดก็ฉันนั้น : อริยสาวกประกอบแล้วด้วยธรรม 4 ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นผู้มีปกติน้อมไปในนิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน เอนไปทางนิพพานโดยแท้ แล.

- มหาวาร. สํ. 19/465-466/1511-1512.

(อีกนัยหนึ่ง)

ภิกษุ ท.! สิกขาบท 150 สิกขาบทนี้ ย่อมมาสู่อุทเทส (การยกขึ้นแสดงในท่ามกลางสงฆ์) ทุกกึ่งแห่งเดือนตามลำดับ อันกุลบุตรผู้ปรารถนาประโยชน์พากันศึกษาอยู่ในสิกขาบทเหล่านั้น. ภิกษุ ท.! สิกขา 3 อย่างเหล่านี้ มีอยู่ อันเป็นที่ประชุมลงของสิกขาบททั้งปวงนั้น. สิกขา 3 อย่างนั้น เป็นอย่างไรเล่า? คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา. ภิกษุ ท.! เหล่านี้แล สิกขา 3 อย่าง อันเป็นที่ประชุมลงแห่งสิกขาบททั้งปวงนั้น.

ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้ ทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำพอประมาณในสมาธิ ทำพอประมาณในปัญญา. เธอยังล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้างและต้องออกจากอาบัติเล็กน้อยเหล่านั้นบ้าง. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ไม่มีผู้รู้ใด ๆ กล่าวความอาภัพต่อการบรรลุโลกุตตรธรรม จักเกิดขึ้นเพราะเหตุสักว่า การล่วงสิกขาบทเล็กน้อยและการต้องออกจากอาบัติเล็กน้อยเหล่านี้. ส่วน สิกขาบทเหล่าใด ที่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ที่เหมาะสมแก่พรหมจรรย์, เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน มีศีลมั่นคง ในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย. ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นรอบแห่งสังโยชน์ 3 เป็นโสดาบัน เป็นผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงต่อพระนิพพาน มีการตรัสรู้พร้อมในเบื้องหน้า.

- ติก. อํ. 20/297/526.

(ดูรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่อง พระโสดาบัน ได้อีก ที่หัวข้อว่า "เปรียบเทียบพระเสขะ-อเสขะ" หน้า 560 แห่งหนังสือเล่มนี้).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง