ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อการละ สัญโญชน์ ทั้งหลาย.
ภิกษุ ท. ! อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างไรเล่า จึงเป็นไปเพื่อการละสัญโญชน์ทั้งหลาย ?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ไปแล้วสู่ป่าก็ตาม ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ตาม ไปแล้วสู่เรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบแล้ว ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น ; ภิกษุนั้นมีสติอยู่นั่นเทียว หายใจเข้า มีสติอยู่นั่นเทียว หายใจออก .... (มีรายละเอียดแห่งอานาปานสติ 16 ขั้น ดังที่เคยกล่าวให้ดูเนื้อความเต็มแล้วในข้อ ก. เป็นต้น จนกระทั่งถึงคำว่า) .... ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความสลัดคืน อยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อการละสัญโญชน์ทั้งหลาย.
ภิกษุ ท. ! อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการ กำจัดเสียซึ่งอนุสัย .... (มีใจความเต็มเหมือนข้อสัญโญชน์).
ภิกษุ ท. ! อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความ รอบรู้ซึ่งทางไกล (อวิชชา). .... (มีใจความเต็มเหมือนข้อสัญโญชน์).
ภิกษุ ท. ! อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความ สิ้นไปแห่งอาสวะ ทั้งหลาย. ... (มีใจความเต็มเหมือนข้อสัญโญชน์).
(ข้อความทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นโดยสรุปว่า อานาปานสติ มีผลทำให้ละสัญโญชน์ได้, ทำให้กำจัดอนุสัยได้, ทำให้รอบรู้ทางไกลคืออวิชชา เหตุให้เกิดอวิชชา ความดับไม่เหลือแห่งอวิชชา และทางปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งอวิชชา, ในที่สุดย่อมทำอาสวะให้สิ้นไป ; ซึ่งโดยใจความแล้ว ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน คือการดับกิเลสสิ้นเชิงนั่นเอง. ทั้งนี้เพราะอานาปานสติภาวนา ทำสติปัฏฐาน 4 ให้สมบูรณ์ ; สติปัฏฐาน 4 สมบูรณ์แล้ว ย่อมทำโพชฌงค์ 7 ให้สมบูรณ์ ; โพชฌงค์ 7 สมบูรณ์แล้ว ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้สมบูรณ์ ; ดังมีพุทธภาษิตตรัสไว้ ซึ่งนำมาใส่ไว้ในหนังสือเล่มนี้ โดยหัวข้อว่า “อานิสงส์ตามปกติแห่งอานาปานสติ” ข้อ ค. ที่หน้า 1249, และหัวข้อว่า “สติปัฏฐาน 4 บริบูรณ์ เมื่ออานาปานสติบริบูรณ์”, “สติปัฏฐาน 4 บริบูรณ์ ย่อมทำโพชฌงค์ให้บริบูรณ์”, “โพชฌงค์บริบูรณ์ ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์” ที่หน้า 1198 ถึงหน้า 1208).
- มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๒๕-๔๒๖/๑๔๐๖ - ๑๔๑๐.