ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! ในข้อที่กามเป็นอันตรายแก่อริยสาวกผู้ศึกษาอยู่ในธรรมวินัยนี้นั้น อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นโดยประจักษ์ ดังนี้ว่า “กามและกามสัญญาอันเป็นไปในทิฏฐธรรม (ภพนี้) และเป็นไปในสัมปรายะ (ภพอื่น) ทั้งสองอย่างนั้นเป็นบ่วงมาร เป็นวิสัยแห่งมาร เป็นเหยื่อแห่งมาร เป็นที่เที่ยวแห่งมาร. ในบ่วงแห่งมารนี้ บาปอกุศลทางใจเหล่านี้ เป็นอภิชฌาบ้าง เป็นพยาบาทบ้าง เป็นสารัมภะ (ความแข่งดี) บ้าง ย่อมเป็นไป ; บาปอกุศลเหล่านั้น ย่อมมีเพื่อเป็นอันตรายแก่อริยสาวกผู้ตามศึกษาอยู่ในธรรมวินัยนี้. ถ้าอย่างไร เราพึงมีจิตเป็นมหัคคตะอันไพบูลย์ อธิษฐานจิตครอบงำโลก อยู่เถิด ; เมื่อเรามีจิตเป็นมหัคคตะอันไพบูลย์ อธิษฐานจิตครอบงำโลกอยู่, บาปอกุศลทางใจเป็นอภิชฌาบ้าง เป็นพยาบาทบ้าง เป็นสารัมภะบ้าง เหล่านั้น จักไม่มี ; เพราะละบาปอกุศลเหล่านั้นเสียได้ จิตของเราก็จักเป็นจิตมีคุณไม่เล็กน้อย เป็นจิตไม่มีประมาณ เป็นจิตอันอบรมดีแล้ว” ดังนี้.
เมื่ออริยสาวกนั้น ปฏิบัติแล้วอย่างนี้ เป็นผู้มากด้วยการปฏิบัติอย่างนี้อยู่, จิตย่อมเลื่อมใสในอายตนะ14.36 เมื่อมีจิตเลื่อมใสสมบูรณ์ เขาก็จะเข้าถึงอาเนญช (สมาบัติ) ในกาลนั้น หรือน้อมไปเพื่อปัญญา. ภายหลังแต่การตายเพราะการทำลายแห่งกาย ฐานะที่พึงมีได้ก็คือ วิญญาณที่เป็นไป ก็จะเป็นวิญญาณที่เข้าถึงซึ่งภพในระดับอาเนญชะ.
ภิกษุ ท. ! นี้เรากล่าวว่า เป็น อาเนญชสัปปายปฏิปทาข้อที่ 1.