ไปยังหน้า : |
ภิกษุนั้น ครั้นจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ผ่องใส ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นธรรมชาติอ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งอยู่อย่างไม่หวั่นไหวเช่นนี้แล้ว เธอชักนำจิตไปเพื่อ อาสวักขยญาณ. เธอย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี่ทุกข์, นี่เหตุแห่งทุกข์, นี่ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, นี่ทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์; และเหล่านี้เป็นอาสวะทั้งหลาย, นี้เหตุแห่งอาสวะทั้งหลาย, นี้ความดับไม่เหลือแห่งอาสวะทั้งหลาย, นี้เป็นทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งอาสวะทั้งหลาย.” เมื่อเธอรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็พ้นจากกามาสวะ ภวาสวะและอวิชชาสวะ. ครั้นจิตพ้นวิเศษแล้วก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่า จิตพ้นแล้ว. เธอรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์จบแล้ว กิจที่ต้องทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก; (รู้ชัดแจ้ง) เปรียบเหมือนห้วงน้ำใสที่ไหล่เขา ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว, คนมีจักษุยืนอยู่บนฝั่งในที่นั้น เขาจะเห็นหอยตัวกลมบ้างตัวแบนบ้าง ก้อนกรวดก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง อันหยุดอยู่และว่ายไปในห้วงน้ำนั้น, เขาจะเห็นชัดเจนรู้สึกว่า “ห้วงน้ำนี้ ใสไม่ขุ่นเลย หอย ก้อนกรวด ก้อนหิน ปลาทั้งหลาย เหล่านี้ หยุดอยู่บ้าง เที่ยวไปบ้าง ในห้วงน้ำนั้น”, ฉันนั้นเหมือนกัน. แม้นี้ ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.
มาณพ! นี้แล อริยปัญญาขันธ์นั้น ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงสรรเสริญและทรงชักชวนมหาชนนี้ให้สมาทาน ให้เข้าไปอยู่ ให้ตั้งไว้เฉพาะ. (จบอริยปัญญาขันธ์). ....
- สี. ที. ๙/๒๕๒ – ๒๗๒/๓๑๘ – ๓๓๗.