ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท.! สมัยใด ภิกษุ (1) เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าเราหายใจเข้ายาวดังนี้, หรือว่า เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าเราหายใจออกยาว ดังนี้ก็ดี; (2) เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าเราหายใจเข้าสั้น ดังนี้. หรือว่า เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าเราหายใจออกสั้น ดังนี้ก็ดี; (3) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง จักหายใจเข้า ดังนี้. ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง จักหายใจออก ดังนี้; (4) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจเข้า ดังนี้, ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจออก ดังนี้; ภิกษุ ท.! สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ตามเห็นกายในกาย อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้
ภิกษุ ท.! เราย่อมกล่าวลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ว่าเป็นกายอันหนึ่ง ๆ ในกายทั้งหลาย. ภิกษุ ท.! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่าเป็นผู้ตามเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ในสมัยนั้น.