นิทเทศแห่งทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

ภิกษุ ท. ! ก็อริยสัจ คือหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? คือ หนทางอันประกอบด้วยองค์ 8 อันประเสริฐนี้เอง, องค์ 8 คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ อาชีวะชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.

ภิกษุ ท. ! ความเห็นชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! ความรู้ใน ทุกข์ ความรู้ใน เหตุให้เกิดทุกข์ ความรู้ใน ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ความรู้ใน หนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อันใด, นี้เราเรียกว่า ความเห็นชอบ.

ภิกษุ ท. ! ความดำริชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! ความดำริในการ ออก (จากกาม) ความดำริในการ ไม่พยาบาท ความดำริในการ ไม่เบียดเบียน, นี้เราเรียกว่า ความดำริชอบ.

ภิกษุ ท. ! วาจาชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! การเว้นจากการ พูดเท็จ การเว้นจากการ พูดยุให้แตกกัน การเว้นจากการ พูดหยาบ การ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ, นี้เราเรียกว่า วาจาชอบ.

ภิกษุ ท. ! การงานชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! การเว้นจากการ ฆ่าสัตว์ การเว้นจากการ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ การเว้นจากการ ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย13.1, นี้เราเรียกว่า การงานชอบ.

ภิกษุ ท. ! อาชีวะชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! อริยสาวกในศาสนานี้ ละมิจฉาชีพเสีย สำเร็จความเป็นอยู่ด้วยสัมมาชีพ, นี้เราเรียกว่า อาชีวะชอบ.

ภิกษุ ท. ! ความเพียรชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่บังเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม ท. อันลามก ที่ยังไม่ได้บังเกิด ; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการละเสียซึ่งอกุศลธรรม ท. อันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว ; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรม ท. ที่ยังไม่ได้บังเกิด ; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความยั่งยืน ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบ แห่งกุศลธรรม ท. ที่บังเกิดขึ้นแล้ว. ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า ความเพียรชอบ.

ภิกษุ ท. ! ความระลึกชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในศาสนานี้ เป็นผู้มีปรกติพิจารณา เห็นกายในกาย อยู่, มีความเพียรเครื่องเผาบาป มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ ; เป็นผู้มีปรกติพิจารณา เห็นเวทนาในเวทนา ท. อยู่, มีความเพียรเครื่องเผาบาป มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ ; เป็นผู้มีปรกติพิจารณา เห็นจิตในจิตอยู่, มีความเพียรเครื่องเผาบาป มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ ; เป็นผู้มีปรกติพิจารณา เห็นธรรมในธรรม ท. อยู่, มีความเพียรเครื่องเผาบาป มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้. ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า สัมมาสติ.

ภิกษุ ท. ! ความตั้งใจมั่นชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุ ในศาสนานี้ เพราะสงัดจากกาม ท. เพราะสงัดจากอกุศลธรรม ท., ย่อมเข้าถึง ฌานที่ 1 อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกแล้วแลอยู่ . เพราะวิตกวิจารรำงับลง, เธอเข้าถึง ฌานที่ 2 อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิแล้วแลอยู่. เพราะปีติจางหายไป, เธอเป็นผู้เพ่งเฉยอยู่ได้ มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม และได้เสวยสุขด้วยนามกาย ย่อมเข้าถึง ฌานที่ 3 อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุ ว่า “เป็นผู้เฉยอยู่ได้ มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม” แล้วแลอยู่. เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ และเพราะความดับหายแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน, เธอย่อมเข้าถึง ฌานที่ 4 อันไม่ทุกข์และไม่สุข มีแต่สติอันบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า สัมมาสมาธิ.

ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า อริยสัจคือหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

- มหา. ที. ๑๐/๓๔๘/๒๙๙.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง