ไปยังหน้า : |
อานนท์ ! ข้อนั้นเป็นอย่างที่เธอกล่าว. อานนท์ ! ข้อนั้นเป็นอย่างที่เธอกล่าว. อานนท์ ! ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใด มีจิตตั้งมั่นที่แล้วในสติปัฏฐานทั้ง 4 อยู่, ข้อที่ภิกษุหรือภิกษุณีนั้น จะพึงหวังได้ก็คือ จักบรรลุคุณวิเศษอันโอฬารยิ่งกว่าที่บรรลุอยู่ก่อน. สติปัฏฐาน 4 อย่าง อย่างไรเล่า ? 4 อย่าง คือ :-
อานนท์ ! ในกรณีนี้ ภิกษุ เป็นผู้ มีปรกติตามเห็นกายในกาย มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่. เมื่อเธอนั้นตามเห็นกายในกาย อยู่, ความเร่าร้อนมีอารมณ์ทางกาย เกิดขึ้นในกายก็ดี ความหดหู่แห่งจิตเกิดขึ้นก็ดี จิตฟุ้งไปในภายนอกก็ดี อานนท์ ! ภิกษุนั้น พึงตั้งจิตไว้ในนิมิตอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสอย่างใดอย่างหนึ่ง. เมื่อเธอนั้นตั้งจิตไว้ในนิมิต อันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสอย่างใดอย่างหนึ่ง อยู่, ปราโมทย์ย่อมเกิด, ปีติย่อมเกิดแก่ผู้มีจิตปราโมทย์, กายของผู้มีใจปีติ ย่อมระงับ ; ผู้มีกายระงับ ย่อมเสวยสุข ; จิตของผู้มีสุข ย่อมตั้งมั่น.
ภิกษุนั้น ย่อมพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า “เราตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นสำเร็จแล้วแก่เรา, ถ้ากระไร บัดนี้เราจะเพิกถอน (ซึ่งจิตอันตั้งไว้ในนิมิตอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส)” ดังนี้. ภิกษุนั้น จึงเพิกถอน คือไม่กระทำซึ่งวิตก ไม่กระทำซึ่งวิจาร รู้ชัดว่า “บัดนี้ เราเป็นผู้ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีสติเป็นสุขอยู่ในภายใน” ดังนี้.
(ในกรณีแห่งเวทนา ก็ดี จิต ก็ดี และธรรม ก็ดี ก็มีข้อความที่ตรัสอย่างเดียวกัน).
อานนท์ ! อย่างนี้แล ชื่อว่า ภาวนาย่อมมีด้วยการดำรงจิตไว้.
- มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๐๗-๒๐๘/๗๑๖ – ๗๑๘.