ไปยังหน้า : |
จุนทะ! ความไม่สะอาดทางกาย มี 3 อย่าง ความไม่สะอาดทางวาจา มี 4 อย่าง ความไม่สะอาดทางใจ มี 3 อย่าง.
จุนทะ! ความไม่สะอาดทางกาย มี 3 อย่าง อย่างไรเล่า? จุนทะ! คนบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้ มีปกติทำสัตว์มีปาณะให้ตกล่วง หยาบช้า มีฝ่ามือเปื้อนด้วยโลหิต มีแต่การฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์มีชีวิต 1 เป็นผู้ มีปกติถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ คือวัตถุอุปกรณ์แห่งทรัพย์ของบุคคลอื่นที่อยู่ในบ้านหรือในป่าก็ตาม เป็นผู้ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย 1 เป็นผู้ มีปกติประพฤติผิดในกาม (คือประพฤติผิด) ในหญิง ซึ่งมารดารักษา บิดารักษา พี่น้องชาย พี่น้องหญิงหรือญาติรักษา อันธรรมรักษา เป็นหญิงมีสามี หญิงอยู่ในสินไหม โดยที่สุดแม้หญิงอันเขาหมั้นไว้ (ด้วยการคล้องพวกมาลัย) เป็นผู้ประพฤติผิดจารีตในรูปแบบเหล่านั้น 1 : จุนทะ! อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางกาย 3 อย่าง.
จุนทะ! ความไม่สะอาดทางวาจา มี 4 อย่าง เป็นอย่างไรเล่า? จุนทะ! คนบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้ มีปกติกล่าวเท็จ ไปสู่สภาก็ดี ไปสู่บริษัทก็ดี ไปสู่ท่ามกลางหมู่ญาติก็ดี ไปสู่ท่ามกลางศาลาประชาคมก็ดี ไปสู่ท่ามกลางราชสกุลก็ดี อันเขานำไปเป็นพยาน ถามว่า “บุรุษผู้เจริญ! ท่านรู้อย่างไร ท่านจงกล่าวไปอย่างนั้น” ดังนี้, บุรุษนั้น เมื่อไม่รู้ก็กล่าวว่ารู้ เมื่อรู้ก็กล่าวว่าไม่รู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าเห็น เมื่อเห็นก็กล่าวว่าไม่เห็น, เพราะเหตุตนเอง เพราะเหตุผู้อื่น หรือเพราะเหตุแก่อามิสไรๆ ก็เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ 1 เป็นผู้มีวาจาส่อเสียด คือฟังจากฝ่ายนี้แล้วไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังจากฝ่ายโน้นแล้วมาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น เป็นผู้ทำคนที่สามัคคีกันให้แตกกัน หรือทำคนที่แตกกันแล้วให้แตกกันยิ่งขึ้น พอใจ ยินดี เพลิดเพลินในการแตกกัน เป็นพวก เป็นผู้กล่าววาจาที่กระทำให้แตกกันเป็นพวก 1 เป็นผู้ มีวาจาหยาบอันเป็นวาจาหยาบคาย กล้าแข็ง แสบเผ็ด ต่อผู้อื่น กระทบกระเทียบผู้อื่น แวดล้อมอยู่ด้วยความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ เขาเป็นผู้กล่าววาจามีรูปลักษณะเช่นนั้น 1 เป็นผู้ มีวาจาเพ้อเจ้อ คือเป็นผู้กล่าวไม่ถูกกาล ไม่กล่าวความจริง กล่าวไม่อิงอรรถไม่อิงธรรม ไม่อิงวินัย เป็นผู้กล่าววาจาไม่มีที่ตั้งอาศัย ไม่ถูกกาลเทศะ ไม่มีจุดจบ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ 1 : จุนทะ! อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางวาจา 4 อย่าง.
จุนทะ! ความไม่สะอาดทางใจ มี 3 อย่าง เป็นอย่างไรเล่า? จุนทะ! คนบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้ มากด้วยอภิชฌา (ความโลภเพ่งเล็ง) เป็นผู้โลภเพ่งเล็งวัตถุอุปกรณ์แห่งทรัพย์ของผู้อื่น ว่า “สิ่งใดเป็นของผู้อื่น สิ่งนั้นจงเป็นของเรา” ดังนี้ 1 เป็นผู้ มีจิตพยาบาท มีความดำริในใจเป็นไปในทางประทุษร้าย ว่า “สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้จงเดือนร้อน จงแตกทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศ อย่าได้มีอยู่เลย” ดังนี้เป็นต้น 1 เป็นผู้ มีความเห็นผิด มีทัสสนะวิปริตว่า “ทานที่ให้แล้ว ไม่มี (ผล), ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล), ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล), การบูชาที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล), ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่ว ไม่มี, โลกนี้ ไม่มี, โลกอื่น ไม่มี, มารดา ไม่มี, บิดา ไม่มี, โอปปาติกะสัตว์ ไม่มี, สมณพราหมณ์ที่ไปแล้วปฏิบัติแล้วโดยชอบ ถึงกับกระทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่นด้วยปัญญาโดยชอบเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็ไม่มี” ดังนี้ 1 : จุนทะ! อย่างนี้แลเป็นความไม่สะอาดทางใจ 3 อย่าง.
จุนทะ! เหล่านี้แล เรียกว่า อกุศลกรรมบถ 10.
จุนทะ! บุคคลประกอบด้วยอกุศลกรรมบถสิบเหล่านี้ ลุกจากที่นอนตามเวลาแห่งตนแล้ว แม้จะลูบแผ่นดิน ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้, แม้จะไม่ลูบแผ่นดิน ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้; แม้จะจับโคมัยสด ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้, แม้จะไม่จับโคมัยสด ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้; แม้จะจับหญ้าเขียวก็เป็นคนสะอาดไม่ได้, แม้จะไม่จับหญ้าเขียว ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้; แม้จะบำเรอไฟ ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้; แม้จะไหว้ดวงอาทิตย์ ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้, แม้จะไม่ไหว้ดวงอาทิตย์ ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้; แม้จะลงน้ำในเวลาเย็นเป็นครั้งที่ 3 ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้, แม้จะไม่ลงน้ำในเวลาเย็นเป็นครั้งที่ 3 ก็เป็นคนสะอาดไปไม่ได้.
ข้อนั้นเพราะเหตุไร? จุนทะ! เพราะเหตุว่า อกุศลกรรมบถ 10 ประการเหล่านี้ เป็นตัวความไม่สะอาด และเป็นเครื่องกระทำความไม่สะอาด. จุนทะ! อนึ่ง เพราะมีการประกอบด้วยอกุศลกรรมบถทั้งสิบประการเหล่านี้เป็นเหตุ นรกย่อมปรากฏ กำหนดเดรัจฉานย่อมปรากฏ เปรตวิสัยย่อมปรากฏหรือว่าทุคคติใดๆ แม้อื่นอีก ย่อมมี.
(การปฏิบัติมีการจับแผ่นดิน จับของเขียว ในเวลาตื่นนอน เป็นต้น เพื่อเป็นผู้มีความบริสุทธิ์สะอาดนั้น เป็นลัทธิคำสอนของพราหมณ์ชาวบ้านปัจฉาภูมิ ผู้ถือกมัณฑลุ (ภาชนะใสน้ำมีพวย) สวมพวงมาลัยเสวาล (กรองด้วยหญ้ามอสและพืชในน้ำ) บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตรอันเป็นลิทธิที่นายจุนทกัมมารบุตรเคยชอบใจมาก่อน ครั้นมาเฝ้าพระพุทธเจ้า, ได้ตรัสว่า นั่นมิใช่ความสะอาดในอริยวินัย, ครั้นนายจุนทะขอให้ตรัสความสะอาดในอริยวินัย ก็ได้ตรัสข้อความดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นเรื่องไม่สะอาด; แล้วได้ตรัสเรื่องของความสะอาดอีกดังต่อไปนี้ :- )