ไปยังหน้า : |
"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! ภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้ว จะไปเกิดในที่ใด ? พระเจ้าข้า !"
วัจฉะ ! ที่ใช้คำพูดว่า จะไปเกิด นั้น ไม่ควรเลย.
"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! ถ้าเช่นนั้น จะไม่ไปเกิดหรือ ?"
วัจฉะ ! ที่ใช้คำพูดว่า จะไม่ไปเกิด นั้นก็ไม่ควร.
"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! ถ้าเช่นนั้น บางทีเกิด บางทีไม่เกิด กระนั้นหรือ ?"
วัจฉะ ! ที่ใช้คำพูดว่า บางทีเกิด บางทีไม่เกิด นั้น ก็ไม่ควร.
"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! ถ้าเช่นนั้น ภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้ว จะว่าไปเกิด ก็ไม่ใช่ ไม่ไปเกิดก็ไม่ใช่ กระนั้นหรือ ?"
วัจฉะ ! ที่ใช้คำพูดว่า จะไปเกิดก็ไม่ใช่ ไม่ไปเกิดก็ไม่ใช่ แม้กระนั้นก็ไม่ควร.
"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! ข้อที่พระองค์ตรัสตอบนี้ ข้าพเจ้าไม่รู้เรื่องเสียแล้ว ทำให้ข้าพเจ้าวนเวียนเสียแล้ว แม้ความเลื่อมใสที่ข้าพเจ้ามีแล้ว ต่อพระองค์ในการตรัสไว้ตอนต้น ๆ บัดนี้ก็ได้ลางเลือนไปเสียแล้ว".
วัจฉะ ! ที่ท่านไม่รู้เรื่องนั้น ก็สมควรแล้ว ที่ท่านเกิดรู้สึกวนเวียนนั้น ก็สมควรแล้ว เพราะธรรมนี้เป็นของลุ่มลึก ยากที่จะเห็น ยากที่จะรู้ตาม, ธรรมนี้เป็นของสงบระงับ ประณีต ไม่เป็นวิสัยที่จะหยั่งถึงได้ด้วยการตรึก, ธรรมนี้เป็นของละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้. เรื่องปริยายนี้ ตัวท่านมีความเห็นมาก่อนหน้านี้ เป็นอย่างอื่น มีความพอใจที่จะฟังให้เป็นอย่างอื่น มีความชอบใจจะให้พยากรณ์เป็นอย่างอื่น เคยปฏิบัติทำความเพียรเพื่อได้ผลเป็นอย่างอื่น ท่านเองได้มีครูบาอาจารย์เป็นอย่างอื่น, ฉะนั้นท่านจึงรู้ได้ยาก, วัจฉะ ! ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามท่านดู ท่านเห็นควรอย่างใด จงกล่าวแก้อย่างนั้น.
วัจฉะ ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน ถ้าไฟลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่าน ท่านจะพึงรู้ได้หรือ ว่าไฟนี้ลุกโพลง ๆ อยู่ต่อหน้าเรา ?"
"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! ข้าพเจ้าพึงรู้ได้ พระเจ้าข้า !"
วัจฉะ ! หากมีคนถามท่านว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่านนี้ มันอาศัยอะไรจึงลุกได้ เมื่อถูกถามอย่างนี้ ท่านจะกล่าวแก้เขาว่าอย่างไร ?
"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! ไฟที่ลุกโพลง ๆ อยู่ต่อหน้านี้ มันอาศัยหญ้าหรือไม้ เป็นเชื้อมันจึงลุกอยู่ได้ พระเจ้าข้า !"
วัจฉะ ! หากไฟนั้นดับไปต่หน้าท่าน ท่านจะพึงรู้หรือว่าไฟได้ดับไปต่อหน้าเรา ?
"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! ข้าพเจ้าพึงรู้ได้ พระเจ้าข้า !"
วัจฉะ ! หากมีคนถาท่านท่านว่า ไฟที่ดับไปต่อหน้าท่านนั้น มันไปทางทิศไหนเสีย ทิศตะวันออกหรือตะวันตก ทิศเหนือหรือใต้ เมื่อถูถามอย่างนี้ ท่านจะกล่าวแก้เขาว่าอย่างไร ?
"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! ข้อนั้นไม่ควรกล่าวอย่างนั้น เพราไฟนั้นอาศัยเชื้อ คือหญ้าหรือไม้จึงลุกขึ้นได้ แต่ถ้าเชื้อนั้นมันสิ้นไปแล้ว ทั้งไม่มีอะไรอื่นเป็นเชื้ออีก ไฟนั้นก็ควรนับว่าไม่มีเชื้อ ดับไปแล้ว".
ฉันใดก็ฉันนั้นนั่นแล วัจฉะเอย ! เมื่อไปบัญญัติอะไรขึ้นมาให้เป็นสัตว์ (ตถาคต) โดยถือเอา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กลุ่มใดขึ้นมา มันก็ได้, แต่ความยึดถือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สำหรับกลุ่มนี้ ตถาคตเองละได้ขาดแล้ว ถอนขึ้นได้จนถึงรากเง่าของมันแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วนเสียแล้ว ถึงความยกเลิกไม่มีอีก ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปแล้ว. วัจฉะเอย ! ตถาคตอยู่นอกเหนือการนับว่าเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นเสียแล้ว มันเป็นเรื่องลึกซึ้ง ที่ใคร ๆ ไม่พึงประมาณได้ หยั่งถึงได้ยาก เหมือนดั่งห้วงมหาสมุทรฉะนั้น. วัจฉะเอย ! ข้อนี้จึงไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าบางทีก็เกิด บางทีก็ไม่เกิด และไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่ ดังนี้แล.
- ม. ม. 13/245-247/248-251.
ประมาณเครื่องกำหนด (คือเกณฑ์ที่ใช้วัดสอบทุกชนิด) ไม่มีทางที่จะเอามาใช้ แก่บุคคลผู้ถึงซึ่งความดับแห่งการยึดถือตัวตน, ท่านผู้เช่นนั้น เป็นคนที่ไม่มีเหตุหรือคุณลักษณะอะไร ๆ ที่ใคร ๆ จะกล่าวว่าท่านเป็นอะไร ได้อีกต่อไป เมื่อสิ่งทั้งปวงถูกเพิกถอนความยึดถือเสียแล้ว วาทบถ คือ คลองแห่งถ้อยคำสำหรับเรียกสิ่งนั้นทั้งหมด ก็พลอยถูกเพิกถอน คือไร้ความหมายไปด้วยทั้งสิ้น.
- สุตฺต. ขุ. 25/539/430.