ไปยังหน้า : |
มาณพ ! ภิกษุ เป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?
มาณพ ! ภิกษุในกรณีนี้ เห็นรูปด้วยตาแล้ว ไม่เป็นผู้ถือเอาในลักษณะที่เป็นการรวบถือเอาทั้งหมด (รวมเป็นภาพเดียว) ไม่เป็นผู้ถือเอาในลักษณะที่เป็นการถือเอาโดยแยกเป็นส่วน ๆ ; อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัส จะพึงไหลไปตามบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ซึ่งอินทรีย์อันเป็นต้นเหตุคือตาใด, เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมซึ่งอินทรีย์นั้น ย่อมรักษาอินทรีย์คือตา ย่อมถึงการสำรวมในอินทรีย์คือตา.
(ในกรณีแห่งอินทรีย์คือหู อินทรีย์คือจมูก อินทรีย์คือลิ้น อินทรีย์คือกาย และอินทรีย์คือใจ ก็มีข้อความที่ได้ตรัสไว้ทำนองเดียวกัน).
. . . . มาณพ ! ภิกษุเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้ว ในอินทรีย์ทั้งหลาย ด้วยอาการอย่างนี้แล.
มาณพ ! ภิกษุ เป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นอย่างไรเล่า ? มาณพ ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้กระทำความรู้ตัวรอบคอบในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง, การแลดู การเหลียวดู, การคู้ การเหยียด, การทรงสังฆาฏิบาตรจีวร, การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม, การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ, เป็นผู้กระทำความรู้ตัวรอบคอบในการไป การหยุด, การนั่ง การนอน, การหลับ การตื่น, การพูด การนิ่ง.
. . . . มาณพ ! ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยอาการอย่างนี้แล.
มาณพ ! ภิกษุ เป็นผู้สันโดษ เป็นอย่างไรเล่า ? มาณพ ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเป็นผู้สันโดษ (ยินดีตามที่มีอยู่) ด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย สันโดษด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง ภิกษุนั้น จะหลีกไปโดยทิศใด ๆ ย่อมถือเอาบาตรและจีวรนั้นหลีกไปได้ โดยทิศนั้น ๆ.
มาณพ ! เปรียบเสมือนนกมีปีก จะบินไปโดยทิศใด ๆ มีปีกอย่างเดียวเป็นภาระบินไป ฉันใด ; ภิกษุก็ฉันนั้น : เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง ถือเอาแล้วหลีกไปโดยทิศใด ๆ ได้.
. . . . มาณพ ! ภิกษุ เป็นผู้สันโดษ ด้วยอาการอย่างนี้แล.