ง. เป็นสุขแล้วดำเนินไปในตัวเอง จนสิ้นอาสวะ

ภิกษุ ท. ! ถ้าพวกปริพพาชกเดียรถีย์ลัทธิอื่นถามพวกเธอว่า สมณโคดมอยู่ตลอดพรรษากาลเป็นอันมาก ด้วยวิหารธรรมอย่างไหน ดังนี้แล้ว พวกเธอพึงตอบว่า “ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ! พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอยู่ตลอดพรรษากาลเป็นอันมาก ด้วยอานาปานสติสมาธิ.” .

ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ เราเป็นผู้มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก : เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ว่าหายใจเข้ายาว ; หรือเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ว่าหายใจออกยาว ....ฯลฯ ....

(ตรัสอานาปานสติ อันมีวัตถุ 16 ดังที่มีปรากฏที่หน้า 1181 แห่งหนังสือเล่มนี้ หัวข้อว่า “แบบการเจริญอานาปานสติที่มีผลมาก” ตั้งแต่หน้า 1182 ถึงหน้า 1184)

ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! เมื่อใครผู้ใด จะกล่าวสิ่งใดให้ถูกต้องชอบธรรม ว่าเป็นอริยวิหารก็ดี ว่าเป็นพรหมวิหารก็ดี ว่าเป็นตถาคตวิหารก็ดี เขาพึงกล่าวอานาปานสติสมาธินี่แหละ ว่าเป็นอริยวิหาร ว่าเป็นพรหมวิหาร ว่าเป็นตถาคตวิหาร.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุเหล่าใดยังเป็น เสขะ ยังไม่ลุถึงธรรมที่ต้องประสงค์แห่งใจ ปรารถนาอยู่ซึ่งโยคเขมธรรมอันไม่มีอะไรยิ่งกว่า ; ภิกษุเหล่านั้น เมื่อเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ซึ่งอานาปานสติสมาธิ ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย.

ส่วนภิกษุทั้งหลายเหล่าใด เป็น อรหันต์ สิ้นอาสวะแล้ว มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว มีสิ่งที่ต้องทำอันตนทำเสร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงแล้ว มีประโยชน์ตนอันลุถึงแล้ว มีสัญโญชน์ในภพทั้งหลายสิ้นรอบแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ ; ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อเจริญทำให้มากแล้ว ซึ่งอานาปานสติสมาธิ ย่อมเป็นสุขวิหารในทิฏฐธรรมนี้ ด้วย เพื่อความสมบูรณ์แห่งสติสัมปชัญญะ ด้วย.

- มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๑๒/๑๓๖๔ - ๑๓๖๗.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง