ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท.! สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เมื่อตามระลึกย่อมตามระลึกถึงบุพเพนิวาสมีอย่างเป็นอเนก ; สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมตามระลึกถึงซึ่งอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 หรือขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง แห่งอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 นั้น. 5 อย่างไรกันเล่า ? 5 คือ :-
ภิกษุ ทุ.! เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง รูป นั่นเทียว ว่า "ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีรูปอย่างนี้" ดังนี้บ้าง ;
ภิกษุ ท.! เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง เวทนา นั่นเทียวว่า "ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีเวทนาอย่างนี้" ดังนี้บ้าง ;
ภิกษุ ท.! เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง สัญญา นั่นเทียวว่า "ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีสัญญาอย่างนี้" ดังนี้บ้าง ;
ภิกษุ ท.! เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง สังขาร นั่นเทียวว่า "ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีสังขารอย่างนี้" ดังนี้บ้าง ;
ภิกษุ ท.! เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง วิญญาณ นั่นเทียวว่า "ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีวิญญาณอย่างนี้" ดังนี้บ้าง.
ภิกษุ ท.! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า รูป ? ภิกษุ ท.! ธรรมชาตินั้นจน ย่อมสลาย (รุปฺปติ) เหตุนั้นจึงเรียกว่า รูป. สลายเพราะอะไร ? สลายเพราะความเย็นบ้าง เพราะความร้อนบ้าง เพราะความหิวบ้าง เพราะความระหายบ้าง เพราะการสัมผัสกับเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานบ้าง. ภิกษุ ท.! ธรรมชาตินั้น ย่อมสลาย เหตุนั้นจึงเรียกว่า รูป.
ภิกษุ ท.! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่าเวทนา ? ภิกษุ ท.! ธรรมชาตินั้น อันบุคคลรู้สึกได้ (เวทยติ) เหตุนั้นจึงเรียกว่า เวทนา. รู้สึกซึ่งอะไร ? รู้สึกซึ่งสุขบ้าง ซึ่งทุกข์บ้าง ซึ่งอทุกขมสุขบ้าง, ภิกษุ ท .! ธรรมชาตินั้น อันบุคคลรู้สึกได้ เหตุนั้นจึงเรียกว่า เวทนา.
ภิกษุ ท.! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า สัญญา ? ภิกษุ ท.! ธรรมชาตินั้น ย่อมหมายรู้ได้พร้อม (สญฺชานาติ) เหตุนั้นจึงเรียกว่า สัญญา. หมายรู้ได้พร้อมซึ่งอะไร? หมายรู้ได้พร้อมซึ่งสีเขียวบ้าง ซึ่งสีเหลืองบ้าง ซึ่งสีแดงบ้าง ซึ่งสีขาวบ้าง ภิกษุุ ท.! ธรรมชาตินั้น ย่อมหมายรู้ได้พร้อมเหตุนั้น จึงเรียกว่า สัญญา.
ภิกษุ ท.! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า สังขาร ? ภิกษุ ท.! ธรรมชาตินั้น ย่อมปรุงแต่ง(อภิสงฺขโรนฺติ) ให้เป็นของปรุงแต่ง เหตุนั้นจึงเรียกว่า สังขาร. ปรุงแต่งอะไรให้เป็นของปรุงแต่ง ? ปรุงแต่งรูปให้เป็นของปรุงแต่งโดยความเป็นรูป ปรุงแต่งเวทนาให้เป็นของปรุงแต่งโดยความเป็นเวทนา ปรุงแต่งสัญญาให้เป็นของปรุงแต่งโดยความเป็นสัญญา ปรุงแต่งสังขารให้เป็นของปรุงแต่งโดยความเป็นสังขาร ปรุงแต่งวิญญาณให้เป็นของปรุงแต่งโดยความเป็นวิญญาณ. ภิกษุ ท.! ธรรมชาตินั้น ย่อมปรุงแต่งให้เป็นของปรุงแต่งเหตุนั้นจึงเรียกว่า สังขาร.
ภิกษุ ท.! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า วิญญาณ ? ภิกษุ ท.! ธรรมชาตินั้น ย่อมรู้แจ้ง (วิชานาติ) เหตุนั้นจึงเรียกว่า วิญญาณ. รู้แจ้งซึ่งอะไร ? รู้แจ้งซึ่งความเปรี้ยวบ้าง ซึ่งความขมบ้าง ซึ่งความเผ็ดร้อนบ้าง ซึ่งความหวานบ้าง ซึ่งความขื่นบ้าง ซึ่งความไม่ขื่นบ้าง ซึ่งความเค็มบ้าง ซึ่งความไม่เค็มบ้าง. ภิกษุ ท.! ธรรมชาตินั้น ย่อมรู้แจ้ง เหตุนั้นจึงเรียกว่า วิญญาณ.
ภิกษุ ท.! ในขันธ์ทั้ง 5 นั้น อริยสาวกผู้มีการสดับ ย่อมพิจารณาเห็นโดยประจักษ์ชัดดังนี้ว่า "ในกาลนี้ เราถูกรูปเคี้ยวกินอยู่, แม้ ในอดีตกาลนานไกล เราก็ถูกรูปเคี้ยวกินแล้ว เหมือนกับที่ถูกรูปอันเป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ในกาลนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น. ถ้าเราเพลิดเพลินรูปในอนาคต, แม้ในอนาคตนานไกล เราก็จะถูกรูปเคี้ยวกิน เหมือนกับที่เราถูกรูปอันเป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ในกาลนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น". อริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่เพ่งต่อรูปอันเป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินรูปอนาคต ย่อมเป็น ผู้ปฏิบัติเพื่อเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ดับไม่เหลือ แห่งรูปอันเป็นปัจจุบัน.
( ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ ก็มีข้อความที่ตรัสไว้อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปนี้ทุกประการ ต่างกันแต่ชื่อขันธ์เท่านั้น แล้วตรัสต่อไป ว่า:- )
ภิกษุ ท.! เธอจะสำคัญความสำคัญข้อนี้ว่าอย่างไร : รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง ? "ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า !" สิ่งใดที่ไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุขเล่า ? "เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า!" สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า "นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นอัตตาของเรา" ดังนี้. "ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า !"
( ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ ก็ได้ตรัส ตรัสถาม และภิกษุทูลตอบ อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปทุกประการ ต่างแต่ชื่อขันธ์เท่านั้น แล้วตรัสต่อไปว่า :-)
ภิกษุ ท.! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบันมีในภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม มีในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม รูปทั้งหมดนั้น บุคคลควรเห็นด้วยปัญญาโดยชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ ว่า "นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา" ดังนี้. ( ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็มีข้อความที่ตรัสอย่างเดียวกับในกรณีแห่งรูป แล้วตรัสต่อไปว่า :-)
ภิกษุ ท.! อริยสาวกนี้ เรากล่าวว่า เธอย่อมยุบ - ย่อมไม่ก่อ ; ย่อมขว้างทิ้ง - ย่อมไม่ถือเอา; ย่อมทำให้กระจัดกระจาย - ย่อมไม่ทำให้เป็นกอง ; ย่อมทำให้มอด - ย่อมไม่ทำให้โพลง.
อริยสาวกนั้น ย่อมยุบ ย่อมไม่ก่อ ซึ่งอะไร ? เธอย่อมยุบ ย่อมไม่ก่อ ซึ่งรูป ซึ่งเวทนาซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ.
อริยสาวกนั้น ย่อมขว้างทิ้ง ย่อมไม่ถือเอา ซึ่งอะไร ? เธอย่อมขว้างทิ้ง ย่อมไม่ถือเอาซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ.
อริยสาวกนั้น ย่อมทำให้กระจัดกระจาย ย่อไม่ทำให้เป็นกอง ซึ่งอะไร ? เธอย่อมทำให้กระจัดกระจาย ย่อมไม่ทำให้เป็นกอง ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ.
อริยสาวกนั้น ย่อมทำให้มอด ย่อมไม่ทำให้ลุกโพลง ซึ่งอะไร ? เธอย่อมทำให้มอด ย่อมไม่ทำให้ลุกโพลง ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ.
ภิกษุ ท.! อริยสาวกผู้มีการสดับ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ. เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด, เพราะความคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น, เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว. อริยสาวกนั้น ย่อมทราบชัดว่า "ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความหลุดพ้นอย่างนี้ มิได้มีอีก" ดังนี้.
ภิกษุ ท.! ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ไม่ก่ออยู่ ไม่ยุบอยู่ แต่เป็นอันว่ายุบแล้ว ดำรงอยู่; ไม่ขว้างทิ้งอยู่ ไม่ถือเอาอยู่ แต่เป็นอันว่าขว้างทิ้งแล้ว ดำรงอยู่; ไม่ทำให้กระจัดกระจายอยู่ ไม่ทำให้เป็นกองอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้กระจัดกระจายแล้ว ดำรงอยู่; ไม่ทำให้มอดอยู่ ไม่ทำให้โพลงอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้มอดแล้ว ดำรงอยู่.
ภิกษุนั้น ไม่ก่ออยู่ ไม่ยุบอยู่ แต่เป็นอันว่ายุบซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่ ? เธอไม่ก่ออยู่ ไม่ยุบอยู่ แต่เป็นอันว่ายุบซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่.
ภิกษุนั้น ไม่ขว้างทิ้งอยู่ ไม่ถือเอาอยู่ แต่เป็นอันว่าขว้างทิ้งซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่ ? เธอไม่ขว้างทิ้งอยู่ ไม่ถือเอาอยู่ แต่เป็นอันว่าขว้างทิ้งซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณแล้ว ดำรงอยู่.
ภิกษุนั้น ไม่ทำให้กระจัดกระจายอยู่ ไม่ทำให้เป็นกองอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้กระจัดกระจายซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่ ? เธอไม่ทำให้กระจัดกระจายอยู่ ไม่ทำให้เป็นกองอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้กระจัดกระจายซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่.
ภิกษุนั้น ไม่ทำให้มอดอยู่ ไม่ทำให้โพลงอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้มอดซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่? เธอไม่ทำ ให้มอดอยู่ ไม่ทำให้โพลงอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้มอดซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่.
ภิกษุ ท.! เทวดาทั้งหลาย พร้อมทั้งอินทร์พรหม และปชาบดี ย่อมนมัสการภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ มาจากที่ไกลเทียว กล่าวว่า :-
"ข้าแต่ท่านบุรุษอาชาไนย ! ข้าแต่ท่านบุรุษผู้สูงสุด ! ข้าพเจ้าขอนมัสการท่าน เพราะข้าพเจ้าไม่อาจจะทราบสิ่งซึ่งท่านอาศัยแล้วเพ่ง ของท่าน" ดังนี้.
- ขนฺธ. สํ. 17/195-110/158-164.
[ขอให้ผู้ศึกษาสังเกตให้เห็นว่า ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ตามนัยนี้ ไม่ขัดต่อหลักมหาปเทสแห่งมหาปรินิพพานสูตร (สุตฺเต โอสาเรตพฺพํ วินเย สนฺทสฺเสตพฺพํ), และไม่มีลักษณะแห่งสัสสตทิฏฐิ ดังที่กล่าวไว้ในนิทเทสแห่งวิชชาสามทั่วไป ๆ ไป. ขอให้นักศึกษาโปรดพิจารณาดูเป็นพิเศษด้วย ].