ก. หมวดนิวรณ์ (คือธรรม)

ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ภิกษุเป็นผู้ มีปรกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือนิวรณ์ 5 อย่าง อยู่. ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้มีปรกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายคือนิวรณ์ห้าอย่างอยู่ นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ภิกษุ :-

รู้ชัดซึ่ง กามฉันทะ อันมีอยู่ในภายใน ว่า มีอยู่ ;

รู้ชัดซึ่งกามฉันทะอันไม่มีอยู่ในภายใน ว่า ไม่มีอยู่ ;

รู้ชัดซึ่งการเกิดขึ้นแห่งกามฉันทะที่ยังไม่เกิดขึ้น ว่า เกิดขึ้นอย่างไร ;

รู้ชัดซึ่งการละกามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้ว ว่า ละไปแล้วอย่างไร ;

รู้ชัดซึ่งการไม่เกิดขึ้นอีกแห่งกามฉันทะที่ละแล้ว ว่า ไม่เกิดขึ้นอีกอย่างไร.

(ในกรณีแห่งนิวรณ์คือ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา ก็มีข้อความที่ตรัสว่า ภิกษุรู้ชัดทำนองเดียวกันกับในกรณีแห่งกามฉันทนิวรณ์ข้างบนนี้) .

ด้วยอาการอย่างนี้แล ที่ภิกษุเป็นผู้ มีปรกติพิจารณาเห็นธรรม ในธรรม ท. อันเป็นภายในอยู่ บ้าง, ในธรรม ท. อันเป็นภายนอกอยู่ บ้าง, ในธรรม ท. อันเป็นทั้งภายในและภายนอกอยู่ บ้าง ; และเป็นผู้มีปรกติพิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดขึ้น (แห่งธรรม) ในธรรม ท. (นี้) อยู่ บ้าง, เห็นธรรมเป็นเหตุเสื่อมไป (แห่งธรรม) ในธรรม ท. (นี้) อยู่ บ้าง, เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดขึ้นและเสื่อมไป (แห่งธรรม) ในธรรม ท. (นี้) อยู่ บ้าง. ก็แหละสติ (คือความระลึก) ว่า “ธรรม ท. มีอยู่” ดังนี้ของเธอนั้น เป็นสติที่เธอดำรงไว้เพียงเพื่อความรู้ เพียงเพื่ออาศัยระลึก, ที่แท้เธอเป็นผู้ที่ตัณหาและทิฏฐิอาศัยไม่ได้ และเธอไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลกนี้. ภิกษุ ท. ! ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีปรกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายคือนิวรณ์ห้าอย่าง แม้ด้วยอาการอย่างนี้.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง