ไปยังหน้า : |
มหาราช ! เมื่อภิกษุนั้น มองเห็นนิวรณ์ทั้ง 5 เหล่านี้ ที่ตนละได้แล้ว อยู่ ปราโมทย์ย่อมเกิด ; เมื่อปราโมทย์เกิด ปีติย่อมเกิด ; กายของผู้มีใจปีติ ย่อมสงบรำงับ ; ผู้มีกายสงบรำงับ ย่อมเสวยสุข ; จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น. ภิกษุนั้น เพราะสงัดจากกามและสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงบรรลุฌานที่ 1 ซึ่งมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่. เธอประพรมกายนี้ทำให้ชุ่มทั่ว ชุ่มรอบ เต็มรอบ ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกนั้น ส่วนใดส่วนหนึ่งของกายเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกนั้น ไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี.
มหาราช ! เปรียบเหมือน นายช่างอาบก็ดี หรือลูกมือของเขา ก็ดี เป็นคนฉลาด โรยผงที่ใช้สำหรับถูตัวในเวลาอาบน้ำลงในขันสำริด แล้วพรมน้ำหมักไว้, ครั้นเวลาเย็น ก้อนผงออกยางเข้ากัน ซึมทั่วกันแล้ว จับกันทั้งภายในภายนอก ไม่ไหลหยด ฉันใด ; มหาราช ! ภิกษุ ประพรมกายนี้ ทำให้ชุ่มทั่ว ชุ่มรอบ เต็มรอบ ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก, ส่วนใดส่วนหนึ่งของกายเธอ ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี, ฉันนั้นเหมือนกัน.
- สี. ที. ๙/๙๘/๑๒๗.