การดำรงชีพชอบโดยทิศ 6 ของฆราวาส

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในอริยวินัย มีการนอบน้อมทิศทั้งหกกันอย่างไร พระเจ้าข้า ! ขอพระองค์จงทรงแสดงธรรมที่เป็นการนอบน้อมทิศทั้งหกในอริยวินัยเถิด”

คหบดีบุตร ! เมื่อใด อริยสาวกละเสียได้ซึ่งกรรมกิเลส 4 ประการ ไม่กระทำกรรมอันเป็นบาปโดยฐานะทั้ง 4 และไม่เสพทางเสื่อม (อบายมุข) แห่งโภคะ 6 ทาง, เมื่อนั้น เขาชื่อว่าเป็นผู้ปราศจากกรรมอันเป็นบาปรวม 14 อย่าง เป็นผู้ปิดกั้นทิศทั้ง 6 โดยเฉพาะแล้ว ; ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่าเขาปฏิบัติแล้วเพื่อชนะโลกทั้งสอง, ทั้งโลกนี้และโลกอื่น เป็นอันเขาปรารภกระทำครบถ้วนแล้ว (อารทฺโธ), เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย, ดังนี้.

กรรมกิเลส 4 ประการอันอริยสาวกนั้น ละเสียได้แล้ว เป็นอย่างไรเล่า ? คหบดีบุตร ! ปาณาติบาต เป็นกรรมกิเลส, อทินนาทาน เป็นกรรมกิเลส, กาเมสุมิจฉาจาร เป็นกรรมกิเลส, มุสาวาท เป็นกรรมกิเลส. กรรมกิเลส 4 ประการเหล่านี้ เป็นกรรมอันอริยสาวกนั้นละขาดแล้ว.

อริยสาวกไม่กระทำกรรมอันเป็นบาปโดยฐานะทั้ง 4 เป็นอย่างไรเล่า ? ผู้ถึงซึ่ง ฉันทาคติ ชื่อว่ากระทำกรรมอันเป็นบาป, ผู้ถึงซึ่ง โทสาคติ ชื่อว่ากระทำกรรมอันเป็นบาป, ผู้ถึงซึ่ง โมหาคติ ชื่อว่ากระทำกรรมอันเป็นบาป, ผู้ถึงซึ่ง ภยาคติ ชื่อว่ากระทำกรรมอันเป็นบาป. คหบดีบุตร ! เมื่อใด อริยสาวกไม่ถึงซึ่งฉันทาคติ ไม่ถึงซึ่งโทสาคติ ไม่ถึงซึ่งโมหาคติ ไม่ถึงซึ่งภยาคติ ; เมื่อนั้น ชื่อว่า ไม่กระทำกรรมอันเป็นบาปโดยฐานะทั้ง 4 เหล่านี้, ดังนี้.

อริยสาวก ไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ 6 ทาง เป็นอย่างไรเล่า ? คหบดีบุตร ! การตามประกอบในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเนื่องด้วยของเมาคือสุราและเมรัย เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ, การตามประกอบในการเที่ยวตามตรอกซอกในเวลาวิกาล เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ, การเที่ยวไปในที่ชุมนุมแห่งความเมา (สมขชฺชาภิจรณ) เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ, การตามประกอบในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทคือการพนัน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ, การตามประกอบในบาปมิตร เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ, การตามประกอบในความเกียจคร้าน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ.

(ต่อไปนี้ ได้ตรัส โทษแห่งอบายมุขทั้งหก และลักษณะแห่งมิตรแท้มิตรเทียม โดยรายละเอียด, ผู้ประสงค์พึงหาอ่านดูได้จากหนังสือนวโกวาท หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี ซึ่งมีอยู่ทุกวัดวาอาราม).

คหบดีบุตร ! อริยสาวก เป็นผู้ปิดกั้นทิศทั้ง 6 โดยเฉพาะแล้ว เป็นอย่างไรเล่า ? คหบดีบุตร ! พึงทราบว่า ทิศทั้งหกเหล่านี้ มีอยู่ คือพึงทราบว่า มารดาบิดา เป็นปุรัตถิมทิศ (ทิศเบื้องหน้า), พึงทราบว่า อาจารย์ เป็นทักขิณทิศ (ทิศเบื้องขวา), พึงทราบว่า บุตรภรรยา เป็นปัจฉิมทิศ (ทิศเบื้องหลัง), พึงทราบว่า มิตรสหาย เป็นอุตตรทิศ (ทิศเบื้องซ้าย), พึงทราบว่า ทาษกรรมกร เป็นเหฏฐิมทิศ (ทิศเบื้องต่ำ), พึงทราบว่า สมณพราหมณ์ เป็นอุปริมทิศ (ทิศเบื้องบน).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง