ไปยังหน้า : |
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! คำอันพระผู้มีพระภาคตรัสว่า "เสขะ เสขะ" ดังนี้ มีอยู่. บุคคล ชื่อว่าเสขะ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร พระเจ้าข้า ?"
ภิกษุ ! บุคคลที่ศึกษานั่นแหละ ชื่อว่า เสขะ, ศึกษาอะไรกันเล่า ? ศึกษาทั้งอธิศีล ทั้งอธิจิต ทั้งอธิปัญญา. ภิกษุุ ท.! เพราะเขาศึกษาเขาจึงชื่อว่าเสขะ ดังนี้.11.2 (ต่อไปนี้ มีคำประพันธ์เป็นคาถาของพระสังคีติกาจารย์แสดงการเชื่อมต่อกันของพระเสขะและพระอเสขะว่า :-)
"เมื่อเสขบุคคล แล่นไปตามหนทางอันตรง ศึกษาอยู่ ขยาญาณย่อมเกิดขึ้นก่อน; ต่อแต่นั้น จึงเกิดอรหัตตผลญาณตามลำดับ ; ต่อจากนั้น ญาณในความสิ้นแห่งภวสังโยชน์ ย่อมเกิดแก่ท่านผู้หลุดพ้นด้วยอรหัตตผลญาณ แล้วเป็นผู้คงที่อยู่, ว่า วิมุตติของเราไม่กลับกำเริบ ดังนี้".
- ติก. อํ. 20/297/525
ภิกษุ ท.! สิกขาบท 150 สิกขาบทนี้ ย่อมมาสู่อุทเทส (การยกขึ้นแสดงในท่างกลางสงฆ์) ทุกกึ่งแห่งเดือนตามลำดับ อันกุลบุตรผู้ปรารถนาประโยชน์พากันศึกษาอยู่ในสิกขาบทเหล่านั้น. ภิกษุ ท.! สิกขา 3 อย่างเหล่านี้ มีอยู่ อันเป็นที่ประชุมลงของสิกขาบททั้งปวงนั้น. สิกขา 3 อย่างนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา. ภิกษุ ท.! เหล่านี้แล สิกขา 3 อย่าง อันเป็นที่ประชุมลงแห่งสิกขาบททั้งปวงนั้น.
ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้ ทำให้บริบูรณ์ให้ศีล ทำพอประมาณในสมาธิ ทำพอประมาณในปัญญา. เธอยังล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง และต้องออกจากอาบัติเล็กน้อยเหล่านั้นบ้า. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ไม่มีผู้รู้ใด ๆ กล่าวความอาภัพต่อการบรรลุโลกุตตรธรรม จักเกิดขึ้นเพราะเหตุสักว่า การล่วงสิกขาบทเล็กน้อยและการต้องออกจากอาบัติเล็กน้อยเหล่านี้. ส่วน สิกขาบทเหล่าใด ที่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ที่เหมาะสมแก่พรหมจรรย์, เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน มีศีลมั่นคง ในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย. ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม เป็นโสดาบัน เป็นผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงต่อพระนิพพาน มีการตรัสรู้พร้อมในเบื้องหน้า. ....(ต่อไปนี้เป็นข้อความจาก บรรพ 227 จนกระทั่งสิ้นข้อความเรื่องพระโสดาบัน :-)
ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม เป็นผู้ สัตตักขัตตุปรมะ ยังต้องท่องเที่ยวไปในภพแห่งเทวดาและมนุษย์อีก 7 ครั้ง เป็นอย่างมาก แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.
(หรือว่า) ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสัญโญชน์สาม เป็นผู้ โกลังโกละ จักต้องท่องเที่ยวไปสู่สกุล 2 หรือ 3 ครั้ง แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.
(หรือว่า) ภิกษุนั้น. เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์ 3 เป็นผู้เป็น เอกพีซี คือจักเกิดในภพแห่งมนุษย์หนเดียวเท่านั้น แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.
ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้ ทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำพอประมาณในสมาธิ ทำพอประมาณในปัญญา, เธอยังล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง และต้องออกจากอาบัติเล็กน้อยเหล่านั้นบ้าง. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ไม่มีผู้รู้ใด ๆ กล่าวความอาภัพต่อการบรรลุโลกุตตรธรรม จักเกิดขึ้นเพราะเหตุสักว่า การล่วงสิกขาบทเล็กน้อยและการต้องออกจากอาบัติเล็กน้อยเหล่านี้. ส่วน สิกขาบทเหล่าใด ที่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ที่เหมาะสมแก่พรหมจรรย์, เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน มีศีลมั่นคง ในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย. ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม และเพราะความที่ราคะ โทสะ โมหะ ก็เบาบางน้อยลง เป็น สกทาคามี ยังจะมาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.
ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้ ทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ ทำพอประมาณในปัญญา. เธอยังล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง และต้องออกจากอาบัติเล็กน้อยเหล่านั้นบ้าง. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ไม่มีผู้รู้ใด ๆ กล่าวความอาภัพต่อการบรรลุโลกุตตรธรรม จักเกิดขึ้นเพราะเหตุสักว่า การล่วงสิขาบทเล็กน้อย และการต้องออกจากอาบัติเล็กน้อยเหล่านี้. ส่วน สิกขาบทเหล่าใด ที่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่เหมาะสมแก่พรหมจรรย์, เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน มีศีลมั่นคง ในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย. ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์เบื้องต่ำห้า เป็น โอปปาติกอนาคามี ผู้อุบัติขึ้นในทันที มีการปรินิพพานในภพนั้น ๆ ไม่เวียนกลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา. ....(ต่อไปนี้เป็นข้อความจาก บรรพ 227 จนกระทั่งสิ้นข้อความเรื่องพระอนาคามี : _)
ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสัญโญชน์เบื้องต่ำ 5 เป็น อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี ผู้มีกระแสในเบื้องบนไปถึงอกนิฏฐภพ.
(หรือว่า) ภิกษุนั้น. เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 เป็น สสังขารปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานด้วยต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรง.
(หรือว่า) ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 เป็น อสังขารปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานด้วยไม่ต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรง.
(หรือว่า) ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 เป็น อุปหัจจปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานเมื่ออายุพ้นกึ่งแล้วจวนพึงที่สุด.
(หรือว่า) ภิกษุนั้น, เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 เป็น อันตราปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานในระหว่างอายุยังไม่ทันถึงกึ่ง.
ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้ ทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ ทำให้บริบูรณ์ในปัญญา. เธอยังล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง และต้องออกจากอาบัติเล็กน้อยเหล่านั้นบ้าง. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ไม่มีผู้ใด ๆ กล่าวอาภัพต่อการบรรลุโลกุตตรธรรม จักเกิดขึ้นเพราะเหตุสักว่า การล่วงสิกขาบทเล็กน้อยและการต้องออกจากอาบัติเล็กน้อยเหล่านี้. ส่วน สิกขาบทเหล่าใดที่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ที่เหมาะสมแก่พรหมจรรย์, เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน มีศีลมั่นคง ในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย. ภิกษุนั้น ได้กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่.
ภิกษุ ท.! ผู้กระทำเพียงบางส่วน ย่อมทำให้สำเร็จได้บางส่วน, ผู้กระทำให้บริบูรณ์ ก็ย่อมทำให้สำเร็จได้บริบูรณ์ ; ดังนั้น เราจึงกล่าวว่า สิกขาบททั้งหลาย ย่อมไม่เป็นหมันเลย, ดังนี้ แล.
- ติก. อํ. 20/297/526