ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! เราจักแสดง ปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพาน แก่พวกเธอ. พวกเธอจงฟัง จงทำในใจให้ดี เราจักกล่าว. ภิกษุ ท. ! ปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพานนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อม เห็นซึ่งจักษุว่า ไม่เที่ยง ; ย่อมเห็นซึ่ง รูป ทั้งหลายว่า ไม่เที่ยง ; ย่อมเห็นซึ่ง จักขุวิญญาณ ว่า ไม่เที่ยง ; ย่อมเห็นซึ่ง จักขุสัมผัส ว่า ไม่เที่ยง ; ย่อมเห็นซึ่ง เวทนา อันเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นอทุกขมสุข ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยว่า ไม่เที่ยง.
(ในกรณีแห่ง โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ และ มนะ ก็ได้ตรัสต่อไปด้วยข้อความอย่างเดียวกัน ทุกตัวอักษร ต่างกันแต่ชื่อเท่านั้น).
ภิกษุ ท. ! นี้แล คือปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพาน นั้น.
- สฬา. สํ. ๑๘/๑๖๗/๒๓๒.
( อีกนัยหนึ่ง )
ภิกษุ ท. ! เราจักแสดง ปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพาน แก่พวกเธอ. พวกเธอจงฟัง จงทำในใจให้ดี เราจักกล่าว. ภิกษุ ท. ! ปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพานนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อม เห็นซึ่งจักษุว่า เป็นทุกข์ ; ย่อมเห็นซึ่ง รูป ทั้งหลายว่า เป็นทุกข์ ; ย่อมเห็นซึ่ง จักขุวิญญาณ ว่า เป็นทุกข์ ; ย่อมเห็นซึ่ง จักขุสัมผัส ว่า เป็นทุกข์ ; ย่อมเห็นซึ่ง เวทนา อันเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นอทุกขมสุข ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย ว่า เป็นทุกข์.
(ในกรณีแห่ง โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ และ มนะ ก็ได้ตรัสต่อไปด้วยข้อความอย่างเดียวกัน ทุกตัวอักษร ต่างกันแต่ชื่อเท่านั้น).
ภิกษุ ท. ! นี้แล คือปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพาน นั้น.
- สฬา. สํ. ๑๘/๑๖๘/๒๓๓.
( อีกนัยหนึ่ง )
ภิกษุ ท. ! เราจักแสดง ปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพาน แก่พวกเธอ. พวกเธอจงฟัง จงทำในใจให้ดี เราจักกล่าว. ภิกษุ ท. ! ปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพานนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อม เห็นซึ่งจักษุว่า เป็นอนัตตา ; ย่อมเห็นซึ่ง รูป ทั้งหลายว่า เป็นอนัตตา ; ย่อมเห็นซึ่ง จักขุวิญญาณ ว่า เป็นอนัตตา ; ย่อมเห็นซึ่งจักขุสัมผัส ว่า เป็นอนัตตา ; ย่อมเห็นซึ่ง เวทนา อันเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นอทุกขมสุข ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยว่า เป็นอนัตตา.
(ในกรณีแห่ง โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ และ มนะ ก็ได้ตรัสต่อไปด้วยข้อความอย่างเดียวกัน ทุกตัวอักษร ต่างกันแต่ชื่อเท่านั้น).
ภิกษุ ท. ! นี้แล คือปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพาน นั้น.
ภิกษุ ท. ! นี้แล คือปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพาน นั้น.
- สฬา. สํ. ๑๘/๑๖๘/๒๓๔.
( อีกนัยหนึ่ง )
ภิกษุ ท. ! เราจักแสดง ปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพาน แก่เธอทั้งหลาย. พวกเธอจงฟัง จงทำในใจให้ดี เราจักกล่าว. ภิกษุ ท. ! ปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพานนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? นั้น เป็นอย่างนี้ คือ :-
ภิกษุ ท. ! พวกเธอจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : จักษุ เที่ยงหรือไม่ไเที่ยง ? “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า !” สิ่งใดไม่เที่ยง, สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ? “เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า !” สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา, ควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า “นั่นของเรา, นั่นเป็นเรา, นั่นเป็นอัตตาของเรา” ดังนี้ ? “ไม่ควรตามเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า !”
(ต่อไปได้ตรัสถามและภิกษุทูลตอบ เกี่ยวกับ รูป …. จักขุวิญญาณ …. จักขุสัมผัส …. จักขุสัมผัสสชาเวทนา, ซึ่งมีข้อความอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งจักษุนั้นทุกประการ ต่างกันแต่ชื่อเท่านั้น.
เมื่อตรัสข้อความในกรณีแห่งอายตนิกธรรมหมวดจักษุ จบลงดังนี้แล้ว ได้ตรัสข้อความในกรณีแห่ง อายตนิกธรรมหมวดโสตะ หมวดฆานะ หมวดชิวหา หมวดกายะ และ หมวดมนะต่อไปอีก, ซึ่งมีข้อความที่ตรัสอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งอายตนิกธรรมหมวดจักษุนั้นทุกประการ ต่างกันแต่เพียงชื่อเท่านั้น, ผู้ศึกษาพึงเทียบเคียงได้เอง).
ภิกษุ ท. ! อริยสาวกผู้มีการสดับ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน รูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน จักขุวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน จักขุสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน เวทนา อันเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นอทุกขมสุข ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย ; (ในกรณีแห่งอายตนิกธรรมหมวดโสตะ - ฆานะ - ชิวหา - กายะ - มนะ ก็ได้ตรัสต่อไปอีก โดยนัยอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งอายตนิกธรรมหมวดจักษุนี้) ; เมื่อเบื่อหน่าย ย่อม คลายกำหนัด ; เพราะคลายกำหนัด ย่อม หลุดพ้น ; เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อม มีญาณหยั่งรู้ ว่า หลุดพ้นแล้ว. อริยสาวกนั้น ย่อม รู้ชัด ว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความหลุดพ้นอย่างนี้ มิได้มีอีก”.
ภิกษุ ท. ! นี้แล คือปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพาน นั้น.
- สฬา. สํ. ๑๘/๑๖๙/๒๓๕.