ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท.! เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไปอยู่อย่างนี้ กามวิตกเกิดขึ้น เราก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า กามวิตกเกิดแก่เราแล้ว, กามวิตกนั้นย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งสองฝ่าย (คือทั้งตนและผู้อื่น) บ้าง, เป็นไปเพื่อความดับแห่งปัญญา เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปพร้อมเพื่อนิพพาน ภิกษุ ท.! เมื่อเราพิจารณาเห็นอยู่ ....ฯลฯ15.2... อย่างนี้ กามวิตกย่อมถึงซึ่งอันตั้งอยู่ไม่ได้. ภิกษุ ท. ! เรา ได้ละเเละบรรเทากามวิตกอันบังเกิดขึ้นแล้วและบังเกิดแล้ว กระทําให้สิ้นสุดได้แล้ว (ในกรณีแห่ง พ๎ยาปาทวิตก และวิหิงสาวิตก ก็มีแนวแห่งการพิจารณาอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งกามวิตก ไปจนกระทั่งถึงคำว่า .... กระทําให้สิ้นสุดได้แล้ว.).
ภิกษุ ท. ! ภิกษุตรึกตามตรองตามถึงอารมณ์ใดๆ มาก จิตย่อมน้อมไปโดยอาการอย่างนั้นๆ : ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึงกามวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละเนกขัมมวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากซึ่งกามวิตก; จิตของเธอ นั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในกาม (กามวิตก). ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึงพ๎ยาปาทวิตกมาก ก็เป็นอันว่า ละอัพ๎ยาปาทวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากซึ่งพ๎ยาปาทวิตก; จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการพยาบาท (พ๎ยาปาทวิตก) ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึงวิหิงสาวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละอวิหิงสาวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากซึ่งวิหิงสาวิตก ; จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการทำสัตว์ให้ลำบาก (วิสิงหาวิตก).
ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนในคราวฤดูสารท คือเดือนสุดท้ายแห่งฤดูฝน คนเลี้ยงโคต้องเลี้ยงโคในที่แคบเพราะเต็มไปด้วยข้าวกล้า เขาต้องตีต้อนห้ามกันฝูงโคจากข้าวกล้านั้นด้วยท่อนไม้ เพราะเขาเห็นโทษคือ การถูกประหาร การถูกจับกุม การถูกปรับไหม การติเตียน เพราะมีข้าวกล้านั้นเป็นเหตุ ข้อนี้ฉันใด; ภิกษุ ท. ! ถึงเราก็ฉันนั้น ได้เห็นแล้วซึ่งโทษความเลวทรามเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย, เห็นอานิสงส์ในการออกจากกาม ความเป็นฝักฝ่ายของความผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย.