ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนลมชนิดต่าง ๆ ย่อมพัดไปในอากาศ ; คือลมทางทิศตะวันออกพัดไปบ้าง ลมทางทิศตะวันตกพัดไปบ้าง ลมทางทิศเหนือพัดไปบ้าง ลมทางทิศใต้พัดไปบ้าง ลมมีธุลีพัดไปบ้าง ลมไม่มีธุลีพัดไปบ้าง ลมหนาวพัดไปบ้าง ลมร้อนพัดไปบ้าง ลมอ่อนพัดไปบ้าง ลมแรงพัดไปบ้าง, นี้ฉันใด ;
ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น, กล่าวคือ เมื่อภิกษุเจริญทำให้มากอยู่ ซึ่งอริยอัฏฐังคิกมรรค :-
แม้ สติปัฏฐาน 4 ก็ถึงซึ่งความบริบูรณ์แห่งภาวนา ;
แม้ สัมมัปปธาน 4 ก็ถึงซึ่งความบริบูรณ์แห่งภาวนา ;
แม้ อิทธิบาท 4 ก็ถึงซึ่งความบริบูรณ์แห่งภาวนา ;
แม้ อินทรีย์ 5 ก็ถึงซึ่งความบริบูรณ์แห่งภาวนา ;
แม้ พละ 5 ก็ถึงซึ่งความบริบูรณ์แห่งภาวนา ;
แม้ โพชฌงค์ 7 ก็ถึงซึ่งความบริบูรณ์แห่งภาวนา. (ธรรมเหล่านี้ ครบอยู่ทั้ง 6 ชนิด เช่นเดียวกับที่ในอากาศ มีลมพัดอยู่ ครบทุกชนิด, ฉันใดก็ฉันนั้น).
ภิกษุ ท. ! เมื่อภิกษุเจริญกระทำให้มากซึ่งอริยอัฏฐังคิกมรรคอยู่ อย่างไรเล่า (ธรรม 6 ชนิดนั้น จึงถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา) ?
ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ภิกษุย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ …. สัมมาสังกัปปะ …. สัมมาวาจา …. สัมมากัมมันตะ …. สัมมาอาชีวะ …. สัมมาวายามะ …. สัมมาสติ …. สัมมาสมาธิ ชนิดที่ มีวิเวกอาศัยแล้ว มีวิราคะอาศัยแล้ว มีนิโรธอาศัยแล้ว มีปกติน้อมไปเพื่อการสลัดลง.
ภิกษุ ท. ! เมื่อภิกษุเจริญกระทำให้มากซึ่งอริยอัฏฐังคิกมรรคอยู่ อย่างนี้แล (ธรรม 6 ชนิดนั้น จึงถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา).
- มหาวาร. สํ. 19/74/282 - 284.
(ในพระบาลีสูตรอื่น ๆ แสดงลักษณะแห่งสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ อันเป็นองค์แห่งอัฏฐังคิกมรรคในกรณีเช่นนี้ แปลกออกไปคือ ราคปริโยสาน : มีการนำออกซึ่งราคะเป็นปริโยสาน, โทสวินยปริโยสาน : มีการนำออกซึ่งโทสะเป็นปริโยสาน, โมหวินยปริโยสาน : มีการนำออกซึ่งโมหะเป็นปริโยสาน (19/69/267) ; อมโตคธ : หยั่งลงสู่อมตะ, อมตปรายน : มีเบื้องหน้าเป็นอมตะ, อมตปริโยสาน : มีอมตะเป็นปริโยสาน (19/69/269) ; นิพฺพานนินฺน : เอียงไปสู่นิพพาน, นิพฺพานโปณ : โน้มไปสู่นิพพาน, นิพฺพานปพฺภาร : เงื้อมไปสู่นิพพาน 19/69/271 ; ดังนี้ก็มี).