ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท. ! ในบรรดาชนบททางทิศใต้ มี พิธีกรรม ชื่อ โธวนะ. ในพิธีกรรมนั้น มีข้าว มีน้ำ มีของเคี้ยว ของบริโภค มีของควรลิ้ม ของควรดื่ม มีการฟ้อน การขับ และการประโคม. ภิกษุ ท. ! พิธีกรรมชื่อโธวนะนั้น มีอยู่ มิใช่เรากล่าวว่าไม่มี แต่ว่าพิธีกรรมชื่อโธวนะนั้น เป็นของต่ำ เป็นของชาวบ้าน ควรแก่บุถุชน ไม่ใช่ของอารยชน ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์ เพื่อความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน.
ภิกษุ ท. ! เราจักแสดง โธวนะอันประเสริฐ ที่เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์โดยส่วนเดียว เพื่อความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน เป็นโธวนะที่เมื่อสัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดาได้อาศัยแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากความเกิด, ผู้มีความแก่เป็นธรรมดาได้อาศัยแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากความแก่, ผู้มีความตายเป็นธรรมดาได้อาศัยแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากความตาย, ผู้มีความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจได้อาศัยแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ. พวกเธอจงฟังคำนั้น จงทำในใจให้ดี เราจักกล่าว. (ต่อจากนั้น ทรงแสดงอเสขธรรม 10 ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ).
- ทสก. อํ. 24/231/107