1. วาจาของอสัตบุรุษ

ภิกษุ ท. ! บุคคลประกอบด้วยธรรม 4 ประการ เป็นที่รู้กันว่าเป็นอสัตบุรุษ. 4 ประการ อย่างไรเล่า ? 4 ประการ คือ : -

ภิกษุ ท. ! อสัตบุรุษในกรณีนี้ แม้ไม่มีใครถามถึง ความไม่ดีของบุคคลอื่น ก็นำมาเปิดเผยให้ปรากฏ ไม่ต้องกล่าวถึงเมื่อถูกใครถาม ; ก็เมื่อถูกใครถามถึงความไม่ดีของบุคคลอื่น ก็นำเอาปัญหาไปทำให้ไม่มีทางหลีกเลี้ยวลดหย่อน แล้วกล่าวความไม่ดีของผู้อื่นอย่างเต็มที่โดยพิสดาร. ภิกษุ ท. ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่า คนคนนี้ เป็น อสัตบุรุษ.

ภิกษุ ท. ! อสัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีก คือ แม้ถูกใครถามอยู่ถึง ความดีของบุคคลอื่น ก็ไม่เปิดเผยให้ปรากฏ ไม่ต้องกล่าวถึงเมื่อไม่ถูกใครถาม ; ก็เมื่อถูกใครถามถึงความดีของบุคคลอื่น ก็นำเอาปัญหาไปทำให้ลดหย่อนไขว้เขว แล้วกล่าวความดีของผู้อื่นอย่างไม่พิสดารเต็มที่. ภิกษุ ท. ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่า คนคนนี้ เป็น อสัตบุรุษ

ภิกษุ ท. ! อสัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีก คือ แม้ถูกใครถามถึง ความไม่ดีของตน ก็ปกปิดไม่เปิดเผยให้ปรากฏ ไม่ต้องกล่าวถึงเมื่อไม่ถูกใครถาม ; ก็เมื่อถูกใครถามถึงความไม่ดีของตน ก็นำเอาปัญหาไปทำให้ลดหย่อนไขว้เขว แล้วกล่าวความไม่ดีของตนอย่างไม่พิสดารเต็มที่. ภิกษุ ท. ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่า คนคนนี้ เป็น อสัตบุรุษ.

ภิกษุ ท. ! อสัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีก คือ แม้ไม่มีใครถามถึงความดีของตน ก็นำมาโอ้อวดเปิดเผย จะต้องกล่าวทำไมถึงเมื่อถูกใครถาม ; ก็เมื่อถูกใครถามถึงความดีของตน ก็นำเอาปัญหาไปทำให้ไม่ลดหย่อนหลีกเลี้ยว กล่าวความดีของตนอย่างเต็มที่โดยพิสดาร. ภิกษุ ท. ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่า คนคนนี้ เป็น อสัตบุรุษ.

ภิกษุ ท. ! บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม 4 ประการเหล่านี้ แล เป็นที่รู้กันว่าเป็น อสัตบุรุษ.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง