ไปยังหน้า : |
อานนท์ ! อินทรียภาวนาชั้นเลิศ (อนุตฺตรา อินฺทฺริยภาวนา) ในอริยวินัย เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ ! ในกรณีนี้ อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ - ไม่เป็นที่ชอบใจ - เป็นที่ชอบใจและไม่เป็นที่ชอบใจ เกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะเห็นรูปด้วยตา. ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า “อารมณ์ที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรานี้ เป็นสิ่งมีปัจจัยปรุงแต่ง (สงฺขต) เป็นของหยาบ ๆ (โอฬาริก) เป็นสิ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น (ปฏิจฺจ สมุปฺปนฺน) ; แต่มีสิ่งโน้นซึ่งรำงับและประณีต, กล่าวคือ อุเบกขา” ดังนี้. (เมื่อรู้ชัดอย่างนี้) อารมณ์ อันเป็นที่ชอบใจ - ไม่เป็นที่ชอบใจ - เป็นที่ชอบใจและไม่เป็นที่ชอบใจ อันบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ย่อมดับไป, อุเบกขายังคงดำรงอยู่.
อานนท์ ! อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ - ไม่เป็นที่ชอบใจ - เป็นที่ชอบใจและไม่เป็นที่ชอบใจ อันบังเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุนั้น ย่อม ดับไปเร็วเหมือนการกะพริบตาของคน ส่วนอุเบกขายังคงเหลืออยู่.
อานนท์ ! นี้แล เราเรียกว่า อินทรียภาวนาชั้นเลิศในอริยวินัย ในกรณีแห่ง รูปที่รู้แจ้งด้วยจักษุ.
( ในกรณีแห่ง เสียงที่รู้แจ้งด้วยโสตะ กลิ่นที่รู้แจ้งด้วยฆานะ รสที่รู้แจ้งด้วยชิวหา โผฏฐัพพะที่รู้แจ้งด้วยผิวกาย และ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งด้วยใจ ก็ได้ตรัสไว้โดยหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน ; ต่างกันแต่อุปมาแห่งความเร็วในการดับแห่งอารมณ์นั้น ๆ, คือในกรณีแห่งเสียงเปรียบด้วยความเร็วแห่ง การดีดนิ้วมือ, ในกรณีแห่งกลิ่นเปรียบด้วยความเร็วแห่ง หยดน้ำตกจากใบบัว, ในกรณีแห่งรสเปรียบด้วยความเร็วแห่ง น้ำลายที่ถ่มจากปลายลิ้นของคนแข็งแรง, ในกรณีแห่งโผฏฐัพพะเปรียบด้วยความเร็วแห่ง การเหยียดแขนพับแขนของคนแข็งแรง, ในกรณีแห่งธรรมารมณ์เปรียบด้วยความเร็วแห่ง การแห้งของหยดน้ำที่หยดลงบนกระทะเหล็กที่ร้อนแดงอยู่ตลอดวัน, ฉันใดก็ฉันนั้น ; แล้วทรงสรุปในสุดท้ายว่า นี้แลเรียกว่าอินทรียภาวนาชั้นเลิศในอริยวินัย ).
- อปริ. ม. 14/542 - 545/856 - 861.
(การที่เรียกว่า อินทรียภาวนาชั้นเลิศ นั้น หมายถึงการดับไปอย่างเร็วที่สุดของอารมณ์ และด้วยอำนาจความรู้ชัดว่าอารมณ์นั้น ๆ เป็นเพียงสังขตะอันเป็นของหยาบ และเป็นเพียงสิ่งอาศัยกันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ และมีสิ่งตรงกันข้ามคืออุเบกขาอันเป็นของละเอียด ประณีต รำงับ ; ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นธรรมะชั้นลึก จึงจัดเป็นชั้นเลิศสุดของอินทรียภาวนาในธรรมวินัยของพระองค์.)