การทำสมาธิ มีเคล็ดลับเหมือนแม่โคเป็นภูเขาลาดชัน

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนโค หากินตามภูเขา โง่เขลา ไม่มีไหวพริบ ไม่รอบรู้ทิศทาง ไม่ฉลาดเพื่อจะเที่ยวไปตามภูเขาอันขรุขระ. มันได้คิดว่า “จะเที่ยวไปสู่ทิศทางที่ไม่เคยไป จะกินหญ้าที่ไม่เคยกิน จะดื่มน้ำที่ไม่เคยดื่ม” ดังนี้ มันวางเท้าหน้าอย่างไม่ถูกต้อง เมื่อยกเท้าหลัง (จึงพลาดล้ม) มันก็ไม่อาจไปถึงทิศทางที่ไม่เคยไป ไม่ได้กินหญ้าที่ไม่เคยกิน ไม่ได้ดื่มน้ำที่ไม่เคยดื่ม และทั้งไม่อาจกลับมาสู่ที่ที่มันเคยยืนคิดทีแรกโดยสวัสดีด้วย. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า โคตัวนั้นซึ่งหากินตามภูเขา เป็นโคโง่เขลา ไม่มีไหวพริบ ไม่รอบรู้ทิศทาง ไม่ฉลาดเพื่อจะเที่ยวไปตามภูเขาอันขรุขระ, นี้ฉันใด ;

ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน : ภิกษุบางรูป ในกรณีนี้ เป็นพาล ไม่มีไหวพริบ ไม่รอบรู้ทิศทาง ไม่ฉลาดเพื่อจะสงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรม เข้าถึงปฐมฌานอันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่. เธอ ไม่เสพอย่างทั่วถึง ไม่ทำให้เจริญ ไม่กระทำให้มาก ซึ่งนิมิตนั้น ไม่ตั้งทับซึ่งนิมิตนั้นให้เป็นนิมิตอันตนตั้งไว้ด้วยดี, เธอคิดว่า “ถ้ากระไร เพราะความเข้าไปสงบรำงับวิตกและวิจาร เราพึงเข้าถึงทุติยฌาน อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่ เถิด” ดังนี้ ; แต่เธอก็ไม่สามารถจะสงบระงับวิตกและวิจาร เข้าถึงทุติยฌาน …. แล้วแลอยู่ได้. เธอคิดต่อไปว่า “ถ้ากระไร เราจะ (ย้อนกลับ) เข้าสู่ปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวก เพราะสงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรม แล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้ แต่เธอก็ไม่สามารถจะสงัดจากกามจากอกุศลธรรม เข้าถึงปฐมฌาน …. แล้วแลอยู่ ได้. ภิกษุ ท. ! ภิกษุนี้ เรากล่าวว่า พังแล้วทั้งสองด้าน เสื่อมแล้วทั้งสองฝ่าย เช่นเดียวกับโคภูเขา อันโง่เขลา ไม่มีไหวพริบ ไม่รอบรู้ทิศทาง ไม่ฉลาดเพื่อจะเที่ยวไปตามภูเขาอันขรุขระ ตัวนั้น.

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนโคภูเขา ที่ฉลาดเฉลียว มีไหวพริบ รอบรู้ทิศทาง ฉลาดเพื่อจะเที่ยวไปตามภูเขาอันขรุขระ. มันได้คิดว่า “จะเที่ยวไปสู่ทิศทางที่ไม่เคยไป จะกินหญ้าที่ไม่เคยกิน จะดื่มน้ำที่ไม่เคยดื่ม” ดังนี้ มันวางเท้าหน้าอย่างถูกต้อง แล้วจึงค่อยยกเท้าหลัง มันจึงสามารถไปสู่ทิศทางที่ไม่เคยไป ได้กินหญ้าที่ไม่เคยกิน ดื่มน้ำที่ไม่เคยดื่ม และทั้งสามารถกลับมาสู่ที่ที่มันเคยยืนคิดทีแรกโดยสวัสดีด้วย. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า โคภูเขาตัวนั้นเป็นโคฉลาดเฉลียว มีไหวพริบ รอบรู้ทิศทาง ฉลาดเพื่อจะเที่ยวไปตามภูเขาอันขรุขระ, นี้ฉันใด ;

ภิกษุ ท. ! ภิกษุบางรูป ในกรณีนี้ ก็ฉันนั้น : เธอ เป็นบัณฑิต มีไหวพริบ รอบรู้ทิศทาง ฉลาดเพื่อจะสงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรม เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่. เธอ เสพอย่างทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มาก ซึ่งนิมิตนั้น ตั้งทับซึ่งนิมิตนั้นให้เป็นนิมิตอันตั้งไว้ด้วยดี.

เธอคิดต่อไปว่า “ถ้ากระไร เพราะความเข้าไปสงบระงับวิตกและวิจารเสียได้ เราพึงเข้าถึงทุติยฌาน อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่ เถิด” ดังนี้. เธอนั้น เมื่อ ไม่ข้องขัดอยู่กะทุติยฌาน ก็เข้าถึงทุติยฌาน อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ เพราะความเข้าไปสงบระงับวิตกและวิจารเสียได้ แล้วแลอยู่ ; เธอ เสพอย่างทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มาก ซึ่งนิมิตนั้น ตั้งทับซึ่งนิมิตนั้นให้เป็นนิมิตอันตั้งไว้ด้วยดี.

เธอคิดต่อไปว่า “ถ้ากระไร เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ เราพึงเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญา และพึงเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าถึงตติยฌานอันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า “ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุข’ ดังนี้ แล้วแลอยู่ เถิด” ดังนี้. เธอนั้น เมื่อ ไม่ข้องขัดอยู่กะตติยฌาน ก็เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และพึงเสวยความสุขด้วยนามกาย เข้าถึง ตติยฌาน อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า “ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุข” ดังนี้ เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ แล้วแลอยู่ ; เธอ เสพอย่างทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มาก ซึ่งนิมิตนั้น ตั้งทับซึ่งนิมิตนั้นให้เป็นนิมิตอันตั้งไว้ด้วยดี.

เธอคิดต่อไปว่า “ถ้ากระไร เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน เราพึงเข้าถึงจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์และสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่ เถิด” ดังนี้. เธอนั้น เมื่อ ไม่ข้องขัดอยู่กะจตุตถฌาน ก็เข้าถึง จตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์และสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน แล้วแลอยู่ ; เธอ เสพอย่างทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มาก ซึ่งนิมิตนั้น ตั้งทับซึ่งนิมิตนั้นให้เป็นนิมิตอันตั้งไว้ด้วยดี.

เธอคิดต่อไปว่า “ถ้ากระไร เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งรูปสัญญา โดยประการทั้งปวง เพราะความดับแห่งปฏิฆสัญญา เพราะไม่ได้ทำในใจซึ่งนานัตตสัญญา เราพึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ อันมีการกระทำในใจว่า ‘อากาศไม่มีที่สุด’ ดังนี้ แล้วแลอยู่ เถิด” ดังนี้. เธอนั้น เมื่อ ไม่ข้องขัดอยู่กะอากาสานัญจายตนะ ก็เข้าถึง อากาสานัญจายตนะ อันมีการกระทำในใจว่า “อากาศไม่มีที่สุด” ดังนี้ เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะความดับแห่งปฏิฆสัญญา เพราะไม่ได้ทำในใจซึ่งนานัตตสัญญา แล้วแลอยู่ ; เธอ เสพอย่างทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มาก ซึ่งนิมิตนั้น ตั้งทับซึ่งนิมิตนั้นให้เป็นนิมิตอันตั้งไว้ด้วยดี.

เธอคิดต่อไปว่า “ถ้ากระไร เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง เราพึงเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะอันมีการทำในใจว่า ‘วิญญาณไม่มีที่สุด’ ดังนี้ แล้วแลอยู่เถิด” ดังนี้. เธอนั้น เมื่อ ไม่ข้องขัดอยู่กะวิญญาณัญจายตนะ ก็เข้าถึง วิญญาณัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า ‘วิญญาณไม่มีที่สุด’ ดังนี้ เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง แล้วแลอยู่ ; เธอ เสพอย่างทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มาก ซึ่งนิมิตนั้น ตั้งทับซึ่งนิมิตนั้นให้เป็นนิมิตอันตั้งไว้ด้วยดี.

เธอคิดต่อไปว่า “ถ้ากระไร เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งวิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง เราพึงเข้าถึงอากิญจัญญายตนะอันมีการทำในใจว่า ‘อะไร ๆ ไม่มี’ ดังนี้ แล้วแลอยู่ เถิด” ดังนี้. เธอนั้น เมื่อ ไม่ข้องขัดอยู่กะอากิญจัญญายตนะ ก็เข้าถึง อากิญจัญญายตนะ อันมีการทำในใจว่า “อะไร ๆ ไม่มี” ดังนี้ เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง แล้วแลอยู่ ; เธอ เสพอย่างทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มาก ซึ่งนิมิตนั้น ตั้งทับซึ่งนิมิตนั้นให้เป็นนิมิตอันตั้งไว้ด้วยดี.

เธอคิดต่อไปว่า “ถ้ากระไร เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งอากิญจัญญายตนะ โดยประการทั้งปวง เราพึงเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้วแลอยู่ เถิด” ดังนี้. เธอนั้น เมื่อ ไม่ข้องขัดอยู่กะเนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็เข้าถึง เนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง แล้วแลอยู่ ; เธอ เสพอย่างทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มาก ซึ่งนิมิตนั้น ตั้งทับซึ่งนิมิตนั้นให้เป็นนิมิตอันตั้งไว้ด้วยดี.

เธอคิดต่อไปว่า “ถ้ากระไร เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง เราพึงเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วแลอยู่ เถิด” ดังนี้. เธอนั้น เมื่อ ไม่ข้องขัดอยู่กะสัญญาเวทยิตนิโรธ ก็เข้าถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง แล้วแลอยู่.

- นวก. อํ. ๒๓/๔๓๓ - ๔๓๗/๒๓๙.

(ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า โคภูเขาที่ฉลาดย่อมรู้จักจรดเท้าหน้าลงในที่อันมั่นคงเสียก่อนแล้วจึงค่อยยกเท้าหลัง จึงจะไม่พลาดกลิ้งลงมา ; เช่นเดียวกับภิกษุ ต้องมีความตั้งอยู่อย่างมั่นคงในฌานที่ถึงทับทีแรกเสียก่อน จึงค่อย “ยกเท้าหลัง” เพื่อก้าวไปสู่ฌานอันสูงขึ้นไป. อุปมาข้อนี้เป็นอุปมาที่แยบคายแปลกกว่าที่เคยได้ยินได้ฟัง เป็นที่น่าสนใจอยู่ มีลักษณะแห่งสัมมาทิฏฐิเต็มบริบูรณ์ จึงนำมาใส่ไว้ในหมวดนี้).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง