อีกนัยหนึ่ง (ตามบาลี ติก. อํ.)

อีกนัยหนึ่ง (ตามบาลี ติก.อํ.)

ภิกษุ ท. ! ปฏิปทา 3 อย่างเหล่านี้ มีอยู่. 3 อย่าง อย่างไรเล่า ? 3 อย่างคือ อาคาฬ๎หปฏิปทา (ปฏิปทาเปียกแฉะ), นิชฌามปฏิปทา (ปฏิปทาไหม้เกรียม). มัชฌิมาปฏิปทา.

ภิกษุ ท. ! อาคาฬ๎หปฏิปทา เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ ว่า “โทษในกามทั้งหลายไม่มี” ดังนี้ เขาย่อมถึงความตกจมอยู่ในกามทั้งหลาย : นี้เรียกว่า อาคาฬ๎หปฏิปทา (มิใช่มัชฌิมาปฏิปทา).

ภิกษุ ท. ! นิชฌามปฏิปทา เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้ประพฤติเปลือยกาย มีมรรยาทอันปล่อยทิ้งเสียแล้ว เป็นผู้ประพฤติเช็ดอุจจาระของตนด้วยมือ ถือเป็นผู้ไม่รับอาหารที่เขาร้องเชิญว่า ท่านผู้เจริญจงมา ไม่รับอาหารที่เขาร้องนิมนต์ .... ฯลฯ .... (รายละเอียดต่อไปจากนี้ มีอีกมาก ดูได้จากข้อความในหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ที่หัวข้อว่า “ทรงประพฤติอัตตกิลมถานุโยค” ที่หน้า 56 - 58 จนถึงคำว่า .... เราประกอบตามซึ่งความเพียรในการลงสู่น้ำเวลาเย็นเป็นครั้งที่สามบ้าง, เราประกอบตามซึ่งความเพียรในการทำ (กิเลสใน) กายให้เหือดแห้ง ด้วยวิธีต่างๆ เช่นนี้ ด้วยอาการอย่างนี้อยู่.). ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า นิชฌามปฏิปทา (มิใช่มัชฌิมาปฏิปทา).

ภิกษุ ท. ! มัชฌิมาปฏิปทา เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุ ในกรณีนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ ย่อมเจริญสัมมาสังกัปปะ ย่อมเจริญสัมมาวาจา ย่อมเจริญสัมมากัมมันตะ ย่อมเจริญสัมมาอาชีวะ ย่อมเจริญสัมมาวายามะ ย่อมเจริญสัมมาสติ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ : นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา.

ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล ปฏิปทา 3 อย่าง.

- ติก. อํ. 20/381 – 382/59.

(อาคาฬ๎หปฏิปทาและนิชฌามปฏิปทา 2 อย่างนี้ แม้มีชื่อต่างจากกามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค ก็ต่างกันสักว่าชื่อ ส่วนใจความเป็นอย่างเดียวกัน. ทั้ง 2 อย่างนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อมัชฌิมาปฏิปทา จึงนำมากล่าวไว้ในที่นี้ ในฐานะเป็นข้าศึกของมัชฌิมาปฏิปทา).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง