โพชฌงค์ ในฐานะเป็นมรรค

ภิกษุ ท. ! มรรคใด ปฏิปทาใด เป็นไปเพื่อความสิ้นแห่งตัณหา พวกเธอจงเจริญซึ่งมรรคนั้นปฏิปทานั้น.

ภิกษุ ท. ! มรรคนั้น ปฏิปทานั้น เป็นอย่างไรเล่า ? นั้นคือ โพชฌงค์ 7 ; กล่าวคือ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์.

(ประโยชน์แห่งมรรคและปฏิปทาในสูตรนี้ ทรงแสดงเป็น ความสิ้นแห่งตัณหา ; ในสูตรอื่นทรงแสดงเป็น ความดับแห่งตัณหา ก็มี).

เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ท่านพระอุทายิทูลถามว่า เจริญโพชฌงค์ 7 นั้น ด้วยวิธีอย่างไร ? ตรัสว่า :-

อุทายิ ! ภิกษุในกรณีนี้ เจริญสติสัมโพชฌงค์ .... ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ .... วิริยสัมโพชฌงค์ .... ปีติสัมโพชฌงค์ .... ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ .... สมาธิสัมโพชฌงค์ .... อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ชนิดที่ อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ เป็นโพชฌงค์อันไพบูลย์ ถึงซึ่งคุณอันใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีความลำบาก. เมื่อเจริญสติสัมโพชฌงค์ (เป็นต้น) อย่างชนิดนี้อยู่, ตัณหาย่อมละไป. เพราะตัณหาละไป กรรมก็ละไป ; เพราะกรรมละไป ทุกข์ก็ละไป. อุทายิ ! ด้วยอาการอย่างนี้แล ความสิ้นกรรมย่อมมีเพราะความสิ้นตัณหา ความสิ้นทุกข์ย่อมมีเพราะความสิ้นกรรม แล.

(นอกจากจะทรงแสดงโพชฌงค์ 7 ในฐานะเป็นมรรคปฏิปทาเพื่อความสิ้นตัณหา เพื่อความดับตัณหา ดังนี้แล้ว ยังทรงแสดงไว้โดยนัยอื่นอีก คือ :-)

ภิกษุ ท. ! เราจักแสดงมรรคอันเป็นส่วนเจาะแทงกิเลส (นิพฺเพธภาคิย) ; เธอทั้งหลายจงฟังให้ดี. มรรคอันมีส่วนเจาะแทงกิเลส นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? คือ สัมโพชฌงค์ 7. 7 คืออะไรเล่า ? 7 คือ สติสัม โพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์.

ตรัสดังนี้แล้ว ท่านพระอุทายิได้ทูลถามว่า “การเจริญทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ 7 อันมีส่วนแห่งการเจาะแทงกิเลส นั้นเจริญอย่างชนิดไหนกันเล่า พระเจ้าข้า ?” ตรัสว่า :-

อุทายิ ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ .... ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ .... วิริยสัมโพชฌงค์ .... ปีติสัมโพชฌงค์ .... ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ .... สมาธิสัมโพชฌงค์ .... อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ชนิดที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ เป็นโพชฌงค์อันไพบูลย์ ถึงซึ่งคุณอันใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีความลำบาก. ภิกษุนั้น ด้วยจิตมีสติสัมโพชฌงค์ .... ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ .... วิริยสัมโพชฌงค์ .... ปีติสัมโพชฌงค์ ... ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ....สมาธิสัมโพชฌงค์ .... อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันเจริญแล้ว ย่อมเจาะแทง ย่อมทำลาย ซึ่งกองแห่งโลภะ อันยังไม่เคยเจาะแทง อันยังไม่เคยทำลาย ; ย่อมเจาะแทง ย่อมทำลาย ซึ่งกองแห่งโทสะ อันยังไม่เคยเจาะแทง อันยังไม่เคยทำลาย ; ย่อมเจาะแทง ย่อมทำลาย ซึ่งกองแห่งโมหะ อันยังไม่เคยเจาะแทง อันยังไม่เคยทำลาย.

อุทายิ ! โพชฌงค์ 7 เจริญอย่างนี้แล ทำให้มากอย่างนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อการเจาะแทงกิเลส แล.

- มหาวาร. สํ. ๑๙/๑๒๓ - ๑๒๔/๔๔๙-๔๕๔.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง