บุพพภาคแห่งการทำความเพียรเพื่อความสิ้นอาสวะ (อีกนัยหนึ่ง)

ภิกษุ ท. ! ถ้าภิกษุไม่เป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่น ไซร้, เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอพึงทำความสำเหนียกว่า “เราจักเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตแห่งตน” ดังนี้เถิด.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตแห่งตน เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนชายหนุ่มหญิงสาว ที่ชอบแต่งตัว ส่องดูเงาหน้าของตนที่แว่นส่องหน้า หรือที่ภาชนะน้ำอันบริสุทธิ์หมดจดใสสะอาด ถ้าเห็นธุลีหรือต่อมที่หน้า ก็พยายามนำธุลีหรือต่อมนั้นออกเสีย ถ้าไม่เห็นธุลีหรือต่อม ก็ยินดี พอใจว่า เป็นลาภหนอ บริสุทธิ์ดีแล้วหนอ, ข้อนี้ฉันใด ; ภิกษุ ท. ! การพิจารณาของภิกษุ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือจะมีอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลาย ในเมื่อเธอพิจารณาว่า :-

“เราเป็นผู้ได้เจโตสมถะในภายใน19.3 หรือหนอ ;

หรือว่า ไม่ได้เจโตสมถะในภายใน.

เราเป็นผู้ ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา19.4 หรือหนอ ;

หรือว่า ไม่ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา.” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้สึกว่า “เราเป็นผู้ได้เจโตสมถะในภายใน แต่ยังไม่ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา” ดังนี้แล้ว, ภิกษุนั้น พึงตั้งอยู่ในเจโตสมถะในภายใน แล้วประกอบโยคกรรมเพื่อการได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา. ภิกษุนั้น ครั้นสมัยอื่น ก็เป็นผู้ได้เจโตสมถะในภายในด้วย ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนาด้วย.

ภิกษุ ท. ! ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้สึกว่า “เราเป็นผู้ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา แต่ไม่ได้เจโตสมถะในภายใน” ดังนี้แล้ว, ภิกษุนั้น พึงตั้งอยู่ในอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา แล้วประกอบโยคกรรมเพื่อการได้เจโตสมถะในภายใน. ภิกษุนั้น ครั้นสมัยอื่น ก็เป็นผู้ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนาด้วย ได้เจโตสมถะในภายในด้วย.

ภิกษุ ท. ! ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้สึกว่า “เรายังไม่ได้เจโตสมถะในภายใน ยังไม่ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา” ดังนี้แล้ว, ภิกษุนั้น พึงกระทำซึ่งฉันทะ วายามะ อุสสาหะ อุสโสฬ๎หี อัปปฏิวานี สติ และสัมปชัญญะ อย่างแรงกล้า เพื่อได้เฉพาะซึ่งกุศลธรรมทั้งหลายเหล่านั้น นั่นเทียว เช่นเดียวกับบุคคลผู้มีเสื้อผ้าหรือศีรษะอันไฟลุกโพลงแล้ว จะพึงกระทำฉันทะ วายามะ อุสสาหะ อุสโสฬ๎หี อัปปฏิวานี สติ และสัมปชัญญะ อันแรงกล้า เพื่อจะดับไฟที่เสื้อผ้าหรือที่ศีรษะนั้น, ฉันใดก็ฉันนั้น. ภิกษุนั้น ครั้นสมัยอื่นอีก ก็เป็นผู้ได้เจโตสมถะในภายในด้วย ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนาด้วย.

ภิกษุ ท. ! ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้สึกว่า “เราเป็นผู้ได้เจโตสมถะในภายใน ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา” ดังนี้แล้ว, ภิกษุนั้น พึงตั้งอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้นนั่นแหละ แล้วประกอบโยคกรรมเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ให้ยิ่งขึ้นไป.

- ทสก. อํ. ๒๔/๑๐๔/๕๔.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง