ค. มัชฌิมาปฏิปทา (ในความหมายชั้นลึก)

(หลักเกณฑ์นี้ อาศัยพระบาลีที่ตรัสโต้ตอบแก่บุคคลผู้มาทูลถาม ซึ่งส่วนมากเป็นพราหมณ์ ได้ทูลถามเรื่องสิ่งตรงกันข้ามที่แยกกันเป็นคู่ๆ ; เช่นว่า สิ่งทั้งปวงมี หรือไม่มี ; สิ่งทั้งปวงเหมือนกัน หรือต่างกัน ; ตนเองหรือผู้อื่นเป็นผู้กระทำหรือเสวยผล ; การกล่าวลงไปว่า สิ่งนั้นๆ เป็นอย่างนั้นโดยส่วนเดียว หรือว่าเป็นอย่างอื่นจากความเป็นอย่างนั้นโดยส่วนเดียว ; ดังนี้เป็นต้น. พระองค์ ตรัสตอบโดยสายกลาง (มชฺเฌน) ไม่ยอมรับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง, โดยพระบาลีว่า “เอเต เต พฺราหฺมณ อุโภ อนฺเต อนุปคมฺม มชฺเฌน ตถาคโต ธมฺมํ เทเสติ ฯลฯ” :-)

พราหมณ์ ! ตถาคต ย่อม แสดงธรรมโดยสายกลาง (มชฺเฌน) ไม่เข้าไปหาส่วนสุดทั้งสองนั้น คือตถาคตย่อมแสดงดังนี้ว่า :-

“เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย ;

เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ;

เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ;

เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ ;

เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ ;

เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา ;

เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา ;

เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน ;

เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ;

เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ ;

เพราะมีชาติเป็นปัจจัย, ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสสะอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.

เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือ แห่งอวิชชานั้นนั่นเที่ยว, จึงมีความดับแห่งสังขาร ;

เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ ;

เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป ;

เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ ;

เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ ;

เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา ;

เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา ;

เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน ;

เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ ;

เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ ;

เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นเอง, ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสสะอุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น : ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้”, ดังนี้.

- นิทาน. สํ. ๑๖/๙๑, ๙๒, ๙๐, ๒๗, ๒๔, ๗๒ – ๗๔/๑๗๓, ๑๗๖, ๑๗๐, ๕๕, ๕๐, ๑๒๙ - ๑๓๒.

(คำว่า มชฺเฌน โดยพระบาลีข้างบนนี้ ก็คือคำว่า มัชฌิมาปฏิปทา นั่นเอง, มัชฌิมาปฏิปทาจึงได้แก่กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ดังที่กล่าวแล้วในสูตรนี้ ซึ่งทำให้ไม่อาจกล่าวสิ่งใดๆ โดยความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยส่วนเดียว ที่เรียกว่าส่วนสุดข้างหนึ่ง ๆ. รายละเอียดเกี่ยวกับสุดโต่งเป็นคู่ๆ นี้ หาดูได้จากหนังสือ พุ. โอ. ตั้งแต่หน้า 247 ถึงหน้า 252.

อยากจะแนะว่า ในการศึกษาเรื่องมัชฌิมาปฏิปทานั้น ควรจะศึกษามัชฌิมาปฏิปทาชั้นพื้นฐานทั่วไปคืออัฏฐังคิกมรรค เป็นลำดับแรก, แล้วศึกษามัชฌิมาปฏิปทาในความหมายชั้นกว้างคือโพธิปักขิยธรรมทั้งหมด เป็นลำดับที่สอง, แล้วจึงศึกษามัชฌิมาปฏิปทาในความหมายชั้นลึกคือปฏิจจสมุปบาท เป็นลำดับสุดท้าย ; มิฉะนั้นจะลำบาก).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

หนังสือที่เกี่ยวข้อง