ไปยังหน้า : |
ภิกษุ ท.! บุคคลเปรียบด้วย เมฆฝน 4 จำพวก เหล่านี้มีอยู่ หาได้อยู่ในโลก.4 อย่างไรเล่า? 4 คือ บุคคลเปรียบเหมือนเมฆฝนที่คำรามแล้วไม่ตก 1 ที่ตกแต่ไม่คำราม 1 ทั้งไม่คำรามและไม่ตก 1 ทั้งคำรามทั้งตก 1.
ภิกษุ ท.! บุคคลบางคนในกรณีนี้ เล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธัมมะ เวทัลละ แต่เขาไม่รู้ตามที่เป็นจริงว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้ ๆ, ทุกขสมุทัย เป็นอย่างนี้ ๆ, ทุกขนิโรธ เป็นอย่างนี้ ๆ, ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นอย่างนี้ ๆ” ดังนี้ : ภิกษุ ท.! เราเรียกบุคคลนี้ว่า เปรียบด้วยเมฆฝนที่คำรามแล้วไม่ตก.
ภิกษุ ท.! บุคคลบางคนในกรณีนี้ ไม่ได้เล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธัมมะ เวทัลละ แต่เขารู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้ ๆ, ทุกขสมุทัย เป็นอย่างนี้ ๆ, ทุกขนิโรธ เป็นอย่างนี้ ๆ, ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นอย่างนี้ ๆ” ดังนี้ : ภิกษุ ท.! เราเรียกบุคคลนี้ว่า เปรียบด้วยเมฆฝนที่ตกแต่ไม่คำราม.
ภิกษุ ท.! บุคคลบางคนในกรณีนี้ ไม่ได้เล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธัมมะ เวทัลละ และไม่รู้ชัดตามเป็นจริงว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้ ๆ, ทุกขสมุทัย เป็นอย่างนี้ ๆ, ทุกขนิโรธ เป็นอย่างนี้ ๆ, ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นอย่างนี้ ๆ” ดังนี้ : ภิกษุ ท.! เราเรียกบุคคลนี้ว่า เปรียบด้วยเมฆฝนที่ทั้งไม่คำรามและไม่ตก.
ภิกษุ ท.! บุคคลบางคนในกรณีนี้ เล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธัมมะ เวทัลละ ด้วย ; และเขารู้ชัดตามเป็นจริงว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้ ๆ, ทุกขสมุทัย เป็นอย่างนี้ ๆ, ทุกขนิโรธ เป็นอย่างนี้ ๆ, ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นอย่างนี้ ๆ” ดังนี้ด้วย : ภิกษุ ท.! เราเรียก บุคคลนี้ว่า เปรียบด้วยเมฆฝนที่ทั้งคำรามทั้งตก.
-จตุกฺก. อํ. 21/136/102.
(ในสูตรอื่น (21/138/103) ตรัสเปรียบลักษณะอาการ 4 อย่างแห่งข้อความข้างบนนี้ ด้วย หม้อ 4 ชนิด คือหม้อเปล่า – ปิด เปรียบด้วยภิกษุไม่รู้อริยสัจแต่มีสมณสารูป; หม้อเต็ม – เปิด คือรู้อริยสัจแต่ไม่มีสมณสารูป; หม้อเปล่า – เปิด คือไม่รู้อริยสัจและไม่มีสมณสารูป; หม้อเต็ม – ปิด คือรู้อริยสัจและมีสมณสารูป.
ในสูตรอื่น (21/140/104 ตรัสเปรียบด้วย ห้วงน้ำ 4 ชนิด คือห้วงน้ำตื้น เงาลึก = ไม่รู้อริยสัจแต่มีสมณสารูป; ห้วงน้ำลึก เงาตื้น = รู้อริยสัจแต่ไม่มีสมณสารูป; ห้วงน้ำตื้น เงาตื้น = ไม่รู้อริยสัจและไม่มีสมณสารูป; ห้วงน้ำลึก เงาลึก = รู้อริยสัจและมีสมณสารูป.
ในสูตรอื่น (21/142/105)) ตรัสเปรียบด้วย มะม่วง 4 ชนิด คือมะม่วงดิบ สีเหมือนสุก ได้แก่ ไม่ได้รู้อริยสัจแต่มีสมณสารูป; มะม่วงสุก สีเหมือนดิบ ได้แก่ รู้อริยสัจแต่ไม่มีสมณสารูป; มะม่วงดิบ สีเหมือนดิบ ได้แก่ ไม่รู้อริยสัจและไม่มีสมณสารูป; มะม่วงสุก สีเหมือนสุก ได้แก่ รู้อริยสัจและมีสมณสารูป.
ผู้สนใจในส่วนรายละเอียด ดูได้จากที่มานั้น ๆ ).