ไปยังหน้า : |
(พระผู้มีพระภาคเสร็จการบิณฑบาตในย่านตลาดแห่งอังคุตตราปนิคม แล้วเสด็จเข้าไปประทับเพื่อทิวาวิหาร ในพนาสณฑ์ใกล้นิคมนั้น ประทับนั่งอยู่ ณ โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง. คฤหบดีคนหนึ่งชื่อโปตลิยะผู้อาศัยอยู่ในนิคมนั้น ซึ่งได้จัดตัวเองไว้ในฐานะเป็นผู้สำเร็จกิจแห่งชีวิต พ้นจากข้อผูกพันของฆราวาส ยกทรัพย์สมบัติให้ลูกหลานหมดแล้ว ดำรงชีวิตอย่างคนหลุดพ้น ตามที่เขาสมมติกัน นุ่งห่มอย่างคนที่ถือกันว่าหลุดพ้นแล้ว มีร่ม มีรองเท้า เดินเที่ยวหาความพักผ่อนตามราวป่า ได้เข้าไปสู่พนาสณฑ์ที่พระองค์กำลังประทับอยู่ ทักทายให้เกิดความคุ้นเคยกันแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสแก่โปตลิยคฤหบดีผู้ยืนอยู่อย่างนั้นว่า :-)
ท่านคฤหบดี ! ที่นั่งนี้ก็มีอยู่ เชิญท่านนั่งตามประสงค์.
(โปตลิยคฤหบดี โกรธ ไม่พอใจ ในข้อที่พระพุทธองค์ตรัสเรียกเขาว่าเป็นคฤหบดี ในเมื่อเขาจัดตัวเองว่าเป็นผู้พ้นจากความเป็นผู้ประกอบกิจอย่างฆราวาส ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งการดูหมิ่นเขาอย่างมาก เขาก็ยืนเฉยเสียไม่นั่งลง ; แม้พระผู้มีพระภาคจะตรัสเชื้อเชิญเขาเป็นครั้งที่สอง ด้วยถ้อยคำอย่างเดียวกัน เขาก็โกรธไม่พอใจ ยืนเฉยเสีย ไม่นั่งลง ; ครั้นพระองค์ตรัสเชื้อเชิญเขาให้นั่งลงเป็นครั้งที่สาม ด้วยถ้อยคำอย่างเดียวกันอีก, เขาก็กล่าวตอบด้วยความโกรธไม่พอใจว่า :-)
“ท่านโคดมเอ๋ย ! นั่นไม่ถูก นั่นไม่สมควร ในการที่ท่านจะมาเรียกข้าพเจ้า ว่า คฤหบดี”.
ท่านคฤหบดีเอ๋ย ! ก็กิริยาอาการ ลักษณะ ท่าทางของท่าน แสดงว่าเป็นคฤหบดีนี่.
“ท่านโคดม ! การงานต่างๆ ข้าพเจ้าเลิกหมดแล้ว ; โวหาร (การลงทุนเพื่อผลกำไร) ต่างๆ ข้าพเจ้าตัดขาดแล้ว”.
ท่านคฤหบดี ! ท่านเลิกการงานต่างๆ ตัดขาดการลงทุนต่างๆ หมดสิ้นแล้วอย่างไรกันเล่า ?”
“ท่านโคดม ! ในเรื่องนี้นะหรือ ; ทรัพย์ใดๆ มีอยู่, ข้าวเปลือก เงิน ทอง มีอยู่ ; ทั้งหมดนั้นข้าพเจ้าได้มอบให้บุตรทั้งหลายไปหมดสิ้นแล้ว. ข้าพเจ้าไม่สั่งสอน บ่นว่าใครอีกต่อไป ในที่นั้นๆ, ต้องการเพียงข้าวกินและเสื้อผ้าบ้างเป็นอย่างยิ่ง อยู่ดังนี้. ท่านโคดมเอ๋ย ! นี่แหละคือการงานต่างๆ ที่ข้าพเจ้าเลิกหมดแล้ว ; การลงทุนต่างๆ ข้าพเจ้าตัดขาดแล้ว”. ท่านคฤหบดี ! การเลิกละโวหาร (การลงทุน) ตามที่ท่านกล่าวนั้น มันเป็นอย่างหนึ่ง ; การเลิกละโวหาร (การลงทุน) ในอริยวินัยนั้น มันเป็นอย่างอื่น.
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !18.3 การเลิกละโวหาร (การลงทุน) ในอริยวินัย นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? ดังข้าพระองค์ขอโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงแสดงธรรมเรื่องการเลิกละโวหาร (การลงทุน) ในอริยวินัยเถิด”.
คฤหบดี ! ถ้าอย่างนั้นท่านจงฟัง จงทำในใจให้ดี เราจักกล่าว.
คฤหบดี ! ธรรมทั้งหลาย 8 ประการ เหล่านี้ เป็นไปเพื่อการตัดขาด ซึ่งโวหาร (การลงทุนเพื่อผลกำไรอย่างใดอย่างหนึ่ง) ในอริยวินัย. 8 ประการ อย่างไรเล่า ? 8 ประการ คือ :-
1. อาศัยกรรมอันไม่เป็นปาณาติบาต ละเสียซึ่งกรรมอันเป็นปาณาติบาต
2. อาศัยการถือเอาแต่สิ่งที่เขาให้ ละเสียซึ่งการถือเอาสิ่งซึ่งเขาไม่ได้ให้
3. อาศัยวาจาสัจจ์ ละเสียซึ่งมุสาวาท
4. อาศัยอปิสุณวาจา ละเสียซึ่งปิสุณวาจา
5. อาศัยความไม่โลภด้วยความกำหนัด ละเสียซึ่งความโลกด้วยความกำหนัด
6. อาศัยความไม่มีโทสะเพราะถูกนินทา ละเสียซึ่งโทสะเพราะถูกนินทา
7. อาศัยความไม่คับแค้นเพราะความโกรธ ละเสียซึ่งความคับแค้นเพราะความโกรธ
8. อาศัยความไม่ดูหมิ่นท่าน ละเสียซึ่งความดูหมิ่นท่าน.
คฤหบดี ! ธรรม 8 ประการ เหล่านี้แล อันเรากล่าวแล้วโดยย่อ ไม่ได้จำแนกโดยพิสดาร แต่ก็เป็นไปเพื่อการตัดขาดโวหาร (การลงทุนเพื่อกำไร) ในอริยวินัย.
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ธรรม 8 ประการที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วแต่โดยย่อ มิได้จำแนกแล้วโดยพิสดาร ก็ยังเป็นไปเพื่อการตัดขาดโวหาร (การลงทุนเพื่อกำไร) ในอริยวินัย นั้น, ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงจำแนกธรรม 8 ประการเหล่านี้ โดยพิสดาร เพราะอาศัยความเอ็นดูแก่ข้าพระองค์เถิด”.
คฤหบดี ! ถ้าอย่างนั้นท่านจงฟัง จงทำในใจให้ดี เราจักกล่าว.
คฤหบดี ! ข้อที่เรากล่าวว่า “อาศัยกรรมอันไม่เป็นปาณาติบาต ละเสียซึ่งกรรมอันเป็นปาณาติบาต” ดังนี้นั้น เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุผลดังนี้ ว่า อริยสาวกในกรณีนี้ ย่อมใคร่ครวญเห็นดังนี้ว่า เราปฏิบัติแล้วดังนี้เพื่อละเสีย เพื่อตัดขาดเสีย ซึ่งสังโยชน์อันเป็นเหตุให้เรากระทำปาณาติบาต. อนึ่ง เมื่อเราประกอบกรรมอันเป็นปาณาติบาตอยู่ แม้เราเองก็ตำหนิตนเองได้เพราะปาณาติบาตเป็นปัจจัย, วิญญูชนใคร่ครวญแล้วก็ติเตียนเราได้เพราะปาณาติบาตเป็นปัจจัย, ภายหลังแต่การตายเพราะการทำลายแห่งกาย ทุคติก็หวังได้เพราะปาณาติบาตเป็นปัจจัย, ปาณาติบาตนั่นแหละ เป็นสังโยชน์ ปาณาติบาต นั่นแหละ เป็นนิวรณ์, อนึ่ง อาสวะเหล่าใดอันเป็นเครื่องกระทำความคับแค้นและเร่าร้อน เกิดขึ้นเพราะปาณาติบาตเป็นปัจจัย, ครั้นเว้นขาดจากปาณาติบาตเสียแล้ว อาสวะอันเป็นเครื่องกระทำความคับแค้นและเร่าร้อนเช่นนั้นเหล่านั้น ย่อมไม่มี. ดังนั้น พึงอาศัยกรรมอันไม่เป็นปาณาติบาต ละกรรมอันเป็นปาณาติบาตเสีย, ดังนี้.
(สำหรับหัวข้อธรรมะที่ว่า อาศัยการถือเอาแต่สิ่งที่เขาให้ ละอทินนาทานเสีย ก็ดี อาศัยสัจจวาจา ละมุสาวาทเสีย ก็ดี อาศัยอปิสุณวาจา ละปิสุณวาจาเสีย ก็ดี อาศัยอคิทธิโลภ ละคิทธิโลภเสีย ก็ดี อาศัยอนินทาโทส ละนินทาโทสเสีย ก็ดี อาศัยอโกธุปายาส ละโกธุปายาสเสีย ก็ดี อาศัยอนติมานะ ละอติมานะเสีย ก็ดี ซึ่งมีคำแปลและความหมายดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ก็ได้ทรงอธิบายด้วยข้อความทำนองเดียวกันกับคำอธิบายของหัวข้อธรรมะที่ว่า “อาศัยอปาณาติบาต ละปาณาติบาตเสีย” ดังที่กล่าวแล้วข้างบนนี้ ; คือ อริยสาวกพิจารณาเห็นว่า มีสังโยชน์เป็นเหตุให้กระทำ ครั้นทำแล้วตนเองก็ตำหนิตนเองได้ ผู้รู้ใคร่ครวญก็ติเตียนได้ ตายแล้วไปสู่ทุคติ จึงจัดการกระทำนั้นๆ ว่า เป็นสังโยชน์ เป็นนิวรณ์ ครั้นละการกระทำนั้นๆ เสียก็ไม่มีอาสวะ อันเป็นเครื่องคับแค้นเดือดร้อน (ระดับนั้น) อีกต่อไป ; แล้วได้ตรัสข้อความนี้สืบต่อไป ว่า :-)
คฤหบดี ! “ธรรมทั้งหลาย 8 ประการ เหล่านี้ (อันเรากล่าวแล้วแม้อย่างนี้ ก็ยังเป็นการ) กล่าวแล้วโดยสังเขป ไม่ได้จำแนกโดยพิสดาร (แม้จะ) เป็นไปเพื่อการตัดขาดโวหาร (การลงทุนเพื่อกำไร) ในอริยวินัย ก็จริง แต่ยังไม่ได้เป็นการตัดขาดซึ่งโวหารกรรมนั้นๆ ทั้งหมดทั้งสิ้น โดยประการทั้งปวงในอริยวินัยนี้ ก่อน.
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงแสดงซึ่งธรรมอันเป็นการตัดขาดซึ่งโวหารกรรมนั้นๆ ทั้งหมดทั้งสิ้น โดยประการทั้งปวงในอริยวินัย แก่ข้าพระองค์เถิด”.
คฤหบดี ! ถ้าอย่างนั้นท่านจงฟัง จงทำในใจให้ดี เราจักกล่าว.
(ต่อจากนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึง กามและโทษอันเลวร้ายของกาม ซึ่งเปรียบด้วย ท่อนกระดูกไม่สามารถสนองความหิวของสุนัขหิว ชิ้นเนื้อในปากนกมีนกอื่นแย่ง จุดคบเพลิงถือทวนลม หลุมผ่านเพลิงอันน่ากลัว ของในฝันซึ่งตื่นแล้วก็หายไป ของยืมซึ่งต้องคืนเจ้าของ และเปรียบด้วยผลไม้ที่สุกแล้ว ย่อมฆ่าต้นของมันเอง (มีรายละเอียดหาดูได้ที่หน้า 300 แห่งหนังสือเล่มนี้ โดยหัวข้อว่า “กามเปรียบด้วยท่อนกระดูก” เป็นต้นไป) อันอริยสาวกใคร่ครวญเห็นโทษทุกข์อุปายาสอันยิ่ง ด้วยปัญญาอันชอบตามที่เป็นจริง แล้วละอุเบกขามีอารมณ์ต่างๆ เสียได้ แล้วเจริญอุเบกขามีอารมณ์เดียวอันเป็นที่ดับอุปาทานในโลกามิสโดยไม่มีส่วนเหลือ.
อริยสาวกนั้น อาศัยสติอันบริสุทธิ์เพราะอุเบกขามีอารมณ์เดียวอันไม่มีอื่นยิ่งกว่านี้แล้ว ระลึกได้ซึ่ง ปุพเพนิวาสานุสสติญาณมีอย่างเป็นอเนก และมีจักษุทิพย์เป็นสัตว์จุติอุบัติไปตามกรรมของตน และในที่สุด ได้กระทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ ในทิฏฐธรรม ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วแลอยู่ ; แล้วได้ตรัสต่อไปว่า :-)
คฤหบดี ! ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ชื่อว่ามี การตัดขาดโวหารกรรม (การลงทุนเพื่อกำไร) นั้นๆ ทั้งหมดทั้งสิ้น โดยประการทั้งปวง ในอริยวินัยนี้. คฤหบดี ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : ท่านได้มองเห็นการตัดขาดซึ่ง โวหารกรรมอย่างนี้เหล่านี้ ว่ามีอยู่ในท่านบ้างไหม ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! จะมีอะไรกันเล่าสำหรับข้าพระองค์ ข้าพระองค์ยังอยู่ห่างไกลจากการตัดขาดโวหารกรรมอย่างนี้ เหล่านี้ ในอริยวินัยนั้น.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในกาลก่อน ข้าพระองค์ได้สำคัญพวกปริพพาชกเดียรถีย์เหล่าอื่น ซึ่งไม่ใช่ผู้รู้ทั่วถึง ว่าเป็นผู้รู้ทั่วถึง ได้คบพวกปริพพาชกเดียรถีร์เหล่าอื่น ผู้ไม่รู้ทั่วถึง ในฐานะเป็นการคบผู้รู้ทั่วถึง ได้ตั้งผู้ไม่รู้ทั่วถึงไว้ในฐานะแห่งผู้รู้ทั่วถึง. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์ได้สำคัญภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง ว่าเป็นผู้ไม่รู้ทั่วถึง ได้คบภิกษุผู้รู้ทั่วถึง ในฐานะเป็นการคบผู้ไม่รู้ทั่วถึง ได้ตั้งผู้รู้ทั่วถึงไว้ในฐานะแห่งผู้ไม่รู้ทั่วถึง.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! บัดนี้ ข้าพระองค์จักรู้พวกปริพพาชกเดียรถีย์เหล่าอื่น ซึ่งมิใช่ผู้รู้ทั่วถึง ว่าเป็นผู้ไม่รู้ทั่วถึง จักคบผู้ไม่รู้ทั่วถึงในฐานะเป็นการคบผู้ไม่รู้ทั่วถึง จักตั้งผู้ไม่รู้ทั่วถึงไว้ในฐานะแห่งผู้ไม่รู้ทั่วถึง. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์จักรู้จัก ภิกษุทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงว่าเป็นผู้รู้ทั่วถึง จักคบผู้รู้ทั่วถึงในฐานะเป็นการคบผู้รู้ทั่วถึง จักตั้งผู้รู้ทั่วถึงไว้ในฐานะแห่งผู้รู้ทั่วถึง.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พระผู้มีพระภาคได้ทรงยังความรักสมณะของข้าพระองค์ให้เกิดขึ้นในหมู่สมณะ ยังความเลื่อมใสสมณะของข้าพระองค์ให้เกิดขึ้นในหมู่สมณะ ยังความเคารพสมณะของข้าพระองค์ให้เกิดขึ้นในหมู่สมณะ แล้ว.
ไพเราะนัก พระเจ้าข้า ! ไพเราะนัก พระเจ้าข้า ! เปรียบเหมือนการหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตั้งประทีปน้ำมันไว้ในที่มืด เพื่อว่าคนมีตาจะได้เห็นรูป ดังนี้” (ต่อจากนี้ไป เขาได้แสดงตนเป็นอุบาสก).
- ม. ม. ๑๓/๓๓ - ๔๗/๓๖ - ๕๕.
(คำว่า "โวหาร” ในที่นี้ คงจะเป็นคำแปลกประหลาดสำหรับผู้อ่านที่ไม่เคยทราบว่า คำคำนี้แปลได้หลายอย่าง คือแปลว่า คำพูด ก็ได้ สำนวน วิธีพูด ก็ได้ อรรถคดีในโรงศาล ก็ได้ การซื้อขาย ก็ได้ การลงทุนหากำไร ก็ได้ และความหมายอื่นๆ อีก. ในพระบาลีนี้ หมายถึงการเป็นอยู่อย่างฆราวาสที่ทำหน้าที่ของตนจนถึงระดับสุดท้าย ซึ่งถือว่าเป็นผู้เสร็จกิจในหน้าที่ของมนุษย์คนหนึ่งๆ. ดังนั้น อาจจะถือได้ว่า การดำรงชีวิตของตนให้ดีจนกระทั่งบรรลุพระนิพพานนั้น ก็เป็น “โวหาร” ได้อย่างหนึ่งเหมือนกัน. แม้จะกล่าวตามธรรมชาติล้วนๆ ชีวิตทุกชีวิต ย่อมเป็นการลงทุนอยู่ในตัวมันเอง เพื่อผลอย่างหนึ่ง คือจุดหมายปลายทางของชีวิต. พุทธบริษัททั่วไป ควรจะสนใจข้อความแห่งพระบาลีสูตรนี้เป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะได้จัดให้ชีวิตของตน เป็นการลงทุนที่ประเสริฐที่สุด ได้ผลดีที่สุด ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา.
การดำรงชีพชอบเพื่อบรรลุนิพพานนี้ มีความหมายแห่งสัมมาอาชีโว แม้จะเป็นสัมมาอาชีโวที่สูงเกินไป ก็ยังจัดได้ว่าเป็นสัมมาอาชีโวอยู่นั่นเอง จึงนำข้อความนี้ มารวมไว้ในหมวดนี้แห่งหนังสือนี้).