ไปยังหน้า : |
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว พระเจ้าข้า!"
มิคชาละ! รูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นได้ด้วยจักษุ เป็น รูปที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่,ถ้าหากว่าภิกษุย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นไซร้,
แก่ภิกษุผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นนั่นแหละ, นันทิย่อมดับ;
เมื่อนันทิไม่อยู่, สาราคะ (ความกำหนัดกล้า) ย่อมไม่มี;
เมื่อสาราคะไม่มีอยู่, สัญโญคะ (ความผูกจิตติดกับอารมณ์) ย่อมไม่มี:
มิคชาละ! ภิกษุผู้ไม่ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยการผูกจิตติดกับอารมณ์ด้วยอำนาจแห่งความเพลิน นั่นแล เราเรียกว่า "ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว".
(ในกรณีแห่งเสียงทั้งหลายอันจะพึงได้ยินด้วยหูก็ดี, กลิ่นทั้งหลายอันจะพึงดมด้วยจมูกก็ดี, รสทั้งหลายอันจะพึงลิ้นด้วยลิ้นก็ดี, โผฏฐัพพะทั้งหลายอันจะพึงสัมผัสด้วยผิวกายก็ดี, และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจก็ดี, พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้มีนัยะอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นด้วยจักษุ).
มิคชาละ! ภิกษุผู้มีการอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ แม้อยู่ในหมู่บ้าน อันเกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย, ด้วยพระราชามหาอำมาตย์ของพระราชาทั้งหลาย, ด้วยเดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ทั้งหลายก็ตาม; ถึงกระนั้น ภิกษุนั้นเราก็เรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียวโดยแท้.
ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า? ข้อนั้นเพราะเหตุว่าตัณหานั่นแล เป็นเพื่อนสองของภิกษุนั้น; ตัณหานั้น อันภิกษุนั้นละเสียได้แล้ว เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นเรา จึงเรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว, ดังนี้ แล.
- สฬา.สํ. 18/44/67.
(เรื่องนี้ควรจะอยู่ในหมวดนิโรธ แต่นำ มาใส่ไว้ต่อท้ายเรื่องนี้ซึ่งเป็นหมวดสมุทัย ก็เพื่อความสะดวกแก่การศึกษา คือศึกษาพร้อมกัน อันจะเป็นการง่าย ได้ผลดีกว่าที่จะแยกกัน.
แต่ยังมีลักษณะแห่งจิตของผู้ที่เรียกว่าอยู่คนเดียวที่ลึกซึ้งกว่า ประณีตกว่าเรื่องนี้ในหมวดนิโรธ หรือภาค 3 ขอให้ดูจากที่นั้น ที่หน้า 695 โดยหัวข้อว่า "ผู้อยู่คนเดียวคือผู้ไม่ข้องติดอยู่ในธรรมทั้งปวง").